Sea and Dream ทะเล ความฝัน และความจริง
เรื่องราวของ "อาภาคย์" ตั้งแต่เยาว์วัย ผ่านชีวิตนักเรียนเตรียมทหาร นักเรียนนายเรือ จนเป็นนายทหารเรือแห่งราชนาวีไทย รวมถึงชีวิตการทำงานและครอบครัว ผ่านการเล่าความฝันโดย นาวาโท อครพล แสนแก้ว ผู้ยึดถืออาภาคย์เป็นแรงบันดาลใจ
Tags: ผู้แต่งยังไม่ได้กำหนด tags ของนิยายเรื่องนี้

ตอน: รั้วน้ำเงินชมพู

<โรงเรียนพรหมานุสรณ์จังหวัดเพชรบุรี (The School of Prommanusorn Phetchaburi Province) อักษรย่อ พ.บ. / P.B. ตั้งอยู่เลขที่ 278 ถนนบันไดอิฐ ตำบลคลองกระแชง อำเภอเมืองเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี เป็นโรงเรียนสหศึกษาทั้งระดับมัธยมศึกษาตอนต้น และมัธยมศึกษาตอนปลาย อีกทั้งยังเป็นโรงเรียนประจำจังหวัดเพชรบุรี เดิมเป็น 2 โรงเรียนคือ โรงเรียนวัดพลับพลาชัย โดยมีพระอาจารย์ริด(หลวงพ่อฤทธิ์)เจ้าอาวาส วัดพลับพลาชัยเป็นผู้ริเริ่มดำเนินการ ทั้งด้านการสอนและทุนทรัพย์ เมื่อ พ.ศ. 2429 และโรงเรียนบำรุงไทย ของวัดคงคาราม ซึ่งภายหลังได้ยุบรวมกัน ตลอดจนเปลี่ยนชื่อเรื่อยมาจนกระทั่งปัจจุบันคือ โรงเรียนพรหมานุสรณ์จังหวัดเพชรบุรี ตราประจำโรงเรียน “ตราช้างหมอบชูคบเพลิง” สีประจำโรงเรียน คือ น้ำเงิน-ชมพู หมายถึง ความมีเกียรติ ความมีศักดิ์ศรี มีความร่าเริง มีความสามัคคี เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน>
วันเปิดเทอมวันแรกในเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2533 ด.ช.ภาคย์ ในชุดเครื่องแบบของโรงเรียนพรหมาฯ เสื้อเชิ้ตแขนสั้นสีขาว ปักตัวอักษรสีน้ำเงิน หน้าอกข้างซ้ายปักชื่อย่อโรงเรียนและหมายเลขประจำตัวของผม พ.บ.20173 ส่วนอกขวาปักชื่อ กางเกงสีกากี รองเท้าและถุงเท้าสีกากี ขี่จักรยานคันเก่งมาถึงหน้าโรงเรียน ยืนมองเข้าไปภายใน โรงเรียนของผมมองจากด้านหน้าจะเป็นสนามฟุตบอล สนามบาสเกตบอล ถัดจากนั้นจะเป็นอาคารเรียนน้อยใหญ่หลายหลัง มีฉากหลังเป็นพระนครคีรี หรือเขาวังดูสวยงามและมีมนต์ขลังดีจังเลย นักเรียนระดับชั้นต่างๆ เดินเข้าโรงเรียนกันเป็นทิวแถว “นักเรียนๆ ลงจากจักรยานแล้วจูงเข้าไปจอดหลังตึกนะ” คุณครูที่ยืนรับนักเรียนบอกผม ผมลงจากรถแล้วจูงเข้าไป อย่างที่บอกครับถนนเข้าไปในโรงเรียนจะผ่านสนามฟุตบอล(สมัยนั้นยังเป็นสนามดินอยู่เลย เพิ่งจะมาปลูกหญ้าในอีกสองปีให้หลัง โดยใช้งบประมาณของโรงเรียนรวมกับเงินบริจาคจากนักเรียน เท่าที่จำได้ผมบริจาคไปสิบบาท อย่าถือว่าน้อยนะครับเพราะหญ้าตารางเมตรละสิบบาท ถือว่าผมเป็นเจ้าของโรงเรียนหนึ่งตารางเมตรละกัน) ผ่านสนามตะกร้อที่มีอยู่สองสนาม จากนั้นจะผ่านอาคาร 3 “สถิตบริหาร”เป็นอาคารไม้สองชั้นเก่าๆ ที่นี้เป็นอาคารประชาสัมพันธ์และห้องปกครอง ซึ่งจะมีเสียงดังป๊าบๆเหมือนเสียงไม้กระทบถูกผิวหนังหรือเสื้อผ้าออกมาเกือบตลอดทั้งวัน ส่วนชั้นบนจะเป็นห้องดุริยางค์และห้องเรียนฝ่ายพละศึกษา ด้านขวามือจะเป็นอาคารทำเป็นซุ้มกาแฟเล็กๆ มีพี่ๆยืนซื้อกาแฟ ซื้อชาและขนมปังกันอยู่ รอบๆจะเป็นสวนมีม้าหินอ่อนไว้ให้นักเรียนนั่งพักผ่อน ด้านซ้ายมือเป็นหอประชุมซึ่งติดๆกันนั้นเป็นศาลาใหญ่ประดิษฐาน หลวงพ่อป่าแก้ว พระพุทธรูปประจำโรงเรียนของเรา จากนั้นผมจูงจักรยานผ่านทางลอดใต้อาคาร 2” สิงขรเพลินพิศ” อาคารนี้ชั้นล่างจะเป็นห้องการเงิน ห้องฝ่ายอำนวยการ ห้องสหกรณ์และห้องพยาบาล หลังจากลอดใต้อาคารแล้วสองข้างจะเป็นสวนปลูกต้นไม้และมีบ่อน้ำเลี้ยงปลาเล็กๆ เอาล่ะตึกด้านหน้านี่สินะที่ผมจะใช้เป็นที่ศึกษาในชั้นมัธยมปีแรก “อาคาร 1 ปฐมสถาพร” เป็นอาคารสามชั้น ส่วนใหญ่นักเรียน ม.1 จะใช้ตึกนี้เป็นห้องประจำชั้น ผมจูงจักรยานไปจอดด้านหลังตึกที่จัดเป็นที่จอดรถจักรยานของนักเรียน โอโฮ!!มีรถ BMX ตั้งหลายคัน เท่ห์สุดๆไปเลย
จอดรถแล้วผมเดินหิ้วกระเป๋า(สมัยนั้นนักเรียนยังหิ้วกระเป๋าใบใหญ่สีดำ ไม่ได้ใช้เป้เหมือนสมัยนี้ วันไหนหนังสือเรียนเยอะก็ถือกันจนตัวเอียงไปข้าง)ตามหาห้องเรียน ซึ่งคุณครูได้แจ้งในวันประกาศผล นั่นไงเจอแล้วอยู่ชั้นสามเลยทีเดียว “ม.1/1” คือห้องเรียนของผม แหมเรียนห้องคิงในโรงเรียนดังซะด้วย เท่ห์ชะมัดยาด ผมนึกในใจขำๆว่าถ้าการแบ่งห้องใช้ตัวอักษรไทยแบบชั้นประถมคงตลกดี ม.1ห้อง ก ข ค ฆ ง จ ฉ ช นั่นไงถึงตัว ช. เลยเพราะมีแปดห้อง ถึงหน้าห้องก็มีเพื่อนใหม่หลายคนนั่งอยู่หน้าห้องแล้ว ผมเดินผ่านไปนั่งอยู่ปลายที่นั่งหน้าห้อง ก็ไม่รู้จักใครนี่หว่า ไอ้คนที่ขี้โม้หน่อยคุยเสียงดังลั่นประหนึ่งว่ามันรู้จักคนทุกคน จนใกล้แปดโมงเช้า ครูเดินมาบอกให้ไปเข้าแถวหน้าเสาธงกันก่อน แล้วจึงค่อยเข้าห้อง “เออนักเรียน คราวหน้าถอดรองเท้าด้วยนะ โรงเรียนของเราต้องถอดรองเท้าบนอาคาร” ครูบอกเช่นนั้น ซึ่งการถอดรองเท้านี้ต่อมานักเรียน ม.1 อย่างเราใช้เป็นประโยชน์ในการสไลด์ตัวไปตามพื้นหินขัด จนถุงเท้าบางคู่ของผมนิ้วโป้งโผล่ออกมาทั้งนิ้ว สถานที่เข้าแถวเคารพธงชาติก็อยู่บริเวณเสาธงหน้าหลวงพ่อป่าแก้ว ด้านหน้าจะเป็น ม.1 ม.3 ม.5 ส่วนด้านหลังจะเป็น ม.2 ม.4 ม.6 โอโฮ!! ผู้คนทำไมมันมากมายเช่นนี้ วันนั้นผู้อำนวยการโรงเรียน ตอนนั้นน่าจะเป็นครูแสวง เอี่ยมองค์ นำคณะครูมากล่าวต้อนรับนักเรียนใหม่ทั้งชั้น ม.1 และ ม.4 ในยุคนั้นนักเรียนชั้นมัธยมต้นจะเป็นชายล้วน พอเป็นมัธยมปลายจึงจะเป็นสหศึกษา เช่นเดียวกับโรงเรียนเบญจมเทพอุทิศที่อยู่อีกด้านของเขาวัง มัธยมต้นก็จะเป็นหญิงล้วนเช่นกัน จากนั้นก็แยกย้ายเข้าห้องเรียน เท่าที่จำได้ผมเป็นเด็กหลังห้องตลอดสามปีของมัธยมต้น ไม่ใช่เป็นเด็กเกรียนอะไรหรอก เผอิญว่าเพื่อนในห้องมันตั้งใจเรียนมากกว่าผมก็เลยแย่งที่นั่งข้างหน้าไปซะหมด ในระดับชั้นนี้ผมจะสนิทกับเพื่อนอยู่สี่ห้าคนซึ่งในปัจจุบันนี้ก็ยังพบเจอพูดคุยกับบางคน บางคนก็หายสาบสูญไปตามภาระหน้าที่ของแต่ละคน ดังเช่นเม็ดฝนแหล่ะครับ ร่วงมาจากฟ้าผืนเดียวกัน บางเม็ดก็ไปตกรวมกันในสระน้ำ บางเม็ดก็ไปรวมกันในภาชนะของผู้คน บางเม็ดก็ตกลงบนผืนทรายซึมหายไป ดังนั้นคนเราถ้ายังมีโอกาสได้พบเจอกันก็พยายามรักษามิตรภาพไว้ให้ดี
สำหรับการเรียนในระดับชั้นนี้ถือเป็นความแปลกใหม่ของผม เพราะตอนเรียนชั้นประถมเราก็จะจุ้มปุ๊กเรียนแทบจะทุกวิชาในห้องประจำของเรา แต่ระดับชั้นมัธยมจะมีไปเรียนตามห้องนู้นห้องนี้เพลินดีครับ วิชาที่ต้องไปเรียนนอกห้องก็จะมีวิชาศิลปะ ผมยังจำปากแดงเพราะการกินหมากของครู(...)ได้ดี แกสอนวาดภาพสถานที่สอนก็อาคารไม้หลังตึก 1 บรรยากาศสุดแสนจะวินเทจ นอกจากแกจะถ่ายทอดวิชาการวาดภาพและลงสีได้ดีแล้ว แกยังมีฝีมือด้านการหวดไม้เรียวได้อย่างวิเศษ ทุกครั้งที่แกฟาดไม้เรียวลงไปบนกล้ามเนื้อที่บอบบางของเรา ความรู้สึกโครตลืมโลก ความเจ็บมันแทงทะลุผิวหนังผ่านความรู้สึกสั่งการเหลือเกิน และด้วยความเป็นอัจฉริยภาพด้านศิลปะของผมทำให้ได้เกรด 2 ของวิชานี้มาประดับสมุดพก เฮ้อ... วิชาต่อไปที่เรียนนอกสถานที่ก็คือวิชาเกษตร สถานที่ก็อยู่หลังอาคาร 3 มีสวนไม้คั่นกลางตึกภาควิชาเกษตรเป็นอาคารปูนชั้นเดียวปกคลุมไปด้วยแมกไม้ใบหญ้ารกครึ้มทำให้ตึกนี้สมกับเป็นตึกผู้เชี่ยวชาญด้านต้นไม้ใบหญ้า ด้านข้างจะเป็นที่ขายเครื่องดื่มและขนมเล็กๆน้อยๆของภาควิชาเกษตรซึ่งเราเรียกร้านนี้ว่า “ช๊อปเกษตร” ผมและพวกแวะมาซื้อน้ำเก๊กฮวย น้ำกระเจี๊ยบที่บรรจุใส่ถุง และขนมไทย เช่น ข้าวเหนียวสังขยา ข้าวเหนียวเหลือง ฯลฯ เป็นประจำจนกระทั่งจบการศึกษา อีกวิชาที่เรียนนอกห้องก็จะเป็นวิชาช่าง สาขานี้สถานที่เรียนจะอยู่ติดกำแพงโรงเรียนด้านทิศตะวันตกเป็นอาคาร 2 ชั้นมีด้วยกันสองหลัง หลังแรกจะเป็นห้องเขียนแบบและห้องเรียนพิมพ์ดีด ส่วนอาคารอีกหลังจะเป็นห้องเรียนและทำงานสำหรับช่างเหล็กและช่างไม้ การเรียนก็สนุกดีครับอะไรที่ไม่ต้องเป็นวิชาการมากผมมักจะชอบ ส่วนงานของ ม.1 จะเป็นการเรียนช่างไม้ ตลอดเทอมครูมอบหมายงานให้หนึ่งชิ้นนั่นคือกลึงไม้ท่อนนึงให้เป็นกลองตะโพนเล็กๆ ซึ่งเป็นงานหมูสำหรับ ด.ช.ภาคย์ ผมก็แอบเอาไปให้คุณตาของผมที่เป็นช่างไม้ฝีมือดี แน่นอนครับวิชานี้เกรด 4 จะหนีไปไหน คริคริ ส่วนการเรียนวิชาการด้านอื่นก็ไม่ต่างไปจากชั้นประถมมากนัก ทั้งคณิตศาสตร์ ภาษาไทย สังคมศึกษา และภาษาอังกฤษ ผมเอาตัวรอดได้แบบสบายๆ
ส่วนอาหารการกินในแต่ละวันนั้นช่วงปีแรกมื้อเช้าผมทานมาจากบ้าน โดยคุณยายจะประกอบอาหารให้ลูกหลานทานทุกเช้า เมนูประจำสำหรับเด็กวัยเจริญเติบโตก็จะเป็นผัดฟักทอง ผัดขิง ต้มไก่ หมูทอด ไข่พะโล้ ถึงแม้จะเป็นเมนูที่สุดแสนจะธรรมดาแต่ทุกวันนี้เมื่อผมไปทำงานไม่ว่าจะเป็นที่ไหนในประเทศไทยก็ตามแต่ เวลาไปร้านข้าวแกงผมต้องสั่งเมนูเหล่านี้มากินเสมอ คงจะเพราะคิดถึงยายกระมัง ยิ่งตอนที่ยายตายไปใหม่ๆ ผมทานเมนูพวกนี้ทุกวันกินไปน้ำตาก็ไหลไป(ผมจำได้ว่าเล่าถึงตอนนี้ ขอบตาของอาภาคย์แดงกล่ำ แกคงจะรักยายมาก) ส่วนมื้อกลางวันยายจะบรรจุอาหารใส่ในปิ่นโตสามเถาให้ผมไปกินที่โรงเรียน ผมว่าการกินแบบนี้รู้สึกดีนะครับ บรรยากาศเป็นแบบไทยแท้ที่คนไทยสมัยก่อนไปไร่ไปนาแต่ละบ้านจะนำอาหารใส่ปิ่นโตมากินร่วมกัน สถานที่กินอาหารเที่ยงก็หลังอาคาร 1 นั่นแหล่ะ ด้านหลังอาคารจะติดกับเขาวัง เป็นลานกว้างพื้นเป็นอิฐมอญสีแดง มีต้นก้ามปูใหญ่มากอยู่หนึ่งต้นเห็นภารโรงเก่าแก่ของโรงเรียนบอกว่าแกเกิดมาก็เห็นก้ามปูต้นนี้มีขนาดใหญ่แล้วแสดงว่ามีอายุเกือบร้อยปีเลยล่ะ นอกนั้นก็จะเป็นหมู่แมกไม้สมกับที่ติดเขา มีโต๊ะหินอ่อนให้นักเรียนไว้นั่งพักผ่อนอยู่หลายโต๊ะ นอกจากกลุ่มผมจะใช้มุมติดเขานี้สำหรับทานอาหารกลางวันร่วมกันแล้ว ยังยังใช้เป็นสถานที่ในการเล่นซนของเราอีกด้วย แหม.อายุเพิ่งจะสิบสองนมเพิ่งแตกพานเองครับ ยังต้องเล่นซนกันอยู่ การเล่นซนที่เป็นที่นิยมในกลุ่มของผมจะการเล่นซ่อนหาหรือคนเพชรเรียกว่าปิดแอบ สถานที่ซ่อนก็ไม่ใช่ที่ไหนใช้เขาวังที่ติดกับเรานั่นแหล่ะ ช่วงนั้นผมจำช่องทางเดินหรือต้นไม้ของเขาวังฝั่งนี้ได้หมดเพราะขึ้นไปเล่นทุกวัน แต่นักปราชญ์ย่อมรู้พลั้งครับ วันนั้นเสียงกริ่งคาบเรียนที่ 5 ดังขึ้นส่งสัญญาณการเข้าห้องเรียน เราก็ต้องเลิกเล่นกันเพื่อเตรียมเข้าห้อง ปรากฏว่าผมคันครับ คันมันทุกอณูของร่างกายถึงกับต้องถอดชุดนักเรียนดู “หมามุ่ย”ครับ หมามุ่ยมันเล่นงานผมนี่ขนาดรู้จักต้นไม้ทุกต้นบนนั้นแต่กลับไม่รู้จักหมามุ่ย ผมต้องพาตัวเองไปห้องพยาบาลให้คุณครูทาคารามายด์ จนแผ่นหลังขาวเนียนของผมกลายเป็นสีชมพูหวานแหววเลยล่ะ นั่นทำให้เพื่อน ม.1/1 เรียกผมว่าไอ้หมามุ่ยอยู่พักนึง
เทอมแรกผ่านไปเช่นนี้กิจกรรมยังไม่มีมากมายนัก จนสอบปลายภาคเสร็จผมกับน้องสาวซึ่งอายุห่างกันสี่ปี่ก็พากันกลับบ้านพ่อตามลำพังสองคน จะกลับมาบ้านยายอีกทีก็วันฟังผลสอบประมาณปลายเดือนตุลาคม การเดินทางสมัยนั้นไม่ต้องพูดถึงครับ ปัจจุบันขับรถส่วนตัวใช้เวลาแค่ครึ่งชั่วโมง แต่ตอนนั้นใช้เวลายาวนานเท่าชั่วอสงไขย น้าผมต้องขี่จักรยานซ้อนผมกับน้องสาวมาส่งที่ท่ารถสองแถวเพชรบุรี-แก่งกระจาน ตอนนั้นท่ารถอยู่บริเวณถนนสิบแปดเมตร ลักษณะจะเป็นรถบรรทุกสี่ล้อขนาดกลางแบ่งแยกสีรถตามเส้นทาง เช่นสายแก่งกระจานสีน้ำเงิน สายบ้านแหลมสีเหลืองเป็นต้น ส่วนการเดินทางไกลๆเช่น หัวหินหรือกรุงเทพฯจะใช้บริการรถบัส(พัดลม)แดง ผมพาน้องขึ้นไปนั่งบนรถซึ่งมีเก้าอี้สองแถว หากช่วงไหนคนเยอะก็จะมีเก้าอี้ยาวเสริมตรงกลาง ประมาณสิบนาทีคนเต็มรถจึงเริ่มออกเดินทาง เส้นทางก็จะออกจากท่ารถผ่านวัดธ่อ วิ่งไปตามถนนผ่านวัดลาด วัดสนามพราหมณ์ ผ่านหอนาฬิกาวัดเกาะ ข้ามสะพานตรงวัดจันทราวาศ (อย่างที่บอกครับเพชรบุรีวัดเยอะจริงๆ) จากนั้นรถผ่านวิทยาลัยเทคนิคเพชรบุรีแล้ววิ่งไปตามถนนเพชรเกษมสายเก่า ถนนเพชรเกษมสมัยนั้นยังเป็นถนนสองเลน รถที่ขึ้นเหนือหรือล่องใต้ยังต้องวิ่งสวนทางกันอยู่ ไม่ได้กว้างขวางแปดเลนเหมือนกับตอนนี้ รถสายแก่งกระจานก็ตามสไตล์รถเมืองขนมหวานครับ หวานเย็นไปเรื่อย ระยะทางตัวเมืองกับอำเภอท่ายางแค่สิบเจ็ดกิโลเมตรคุณท่านขับซะสี่สิบนาที จนถึงสามแยกท่ายางรถก็เลี้ยวเข้าตัวตลาดเพื่อไปจอดรอรับคนอีกประมาณครึ่งชั่วโมง ระหว่างนี้ผมกับน้องก็ลงไปหาอะไรกินกัน ตอนนั้นบริเวณท่ารถจะมีร้านข้าวแช่ แต่อย่าเรียกว่าร้านเลยครับมียายแก่ๆหาบหม้อชามกะละมังไหใส่มาขาย แล้วมีโต๊ะเตี้ยให้เรานั่งกิน พูดถึงข้าวแช่นี่ก็เป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของเมืองเพชรนอกเหนือจากขนมหม้อแกง ตาลโตนดที่คนไทยรู้จักดี กินข้าวแช่เสร็จก็ไปซื้อลูกชิ้นกิน แน่นอนว่าต้องเป็นลูกชิ้นตาแก้ว ลูกชิ้นเอ็นหมูย่างของแกอร่อยจริงๆน้ำจิ้มนั้นเผ็ดมากแต่อร่อยซะสองพี่น้องซดน้ำไปหลายขวด สักพักรถก็บีบแตรเป็นสัญญาณว่ารถจะออกเดินทางต่อแล้ว ที่ท่ายางนอกจากจะมีรถสายแก่งกระจานผ่านแล้ว ยังมีรถที่มีต้นสายจากท่ายางไปยังตำบลต่างๆที่อยู่ห่างไกลอีกด้วย เช่นสายท่ายาง-บ้านท่า,ท่ายาง-สาระเห็ด เป็นต้น รถพาเราย้อนไปทางสามแยกท่ายางอีกครั้งจากนั้นเลี้ยวขวาไปตามถนนเพชรเกษมอีกประมาณเจ็ดกิโลเมตรก็เลี้ยวขวาตรงสี่แยกที่คนเพชรเรียกกันจนคุ้นเคยว่า "แยกเขื่อน(เพชร)” ที่นี่รถก็จอดอีกแป๊บนึงให้คนที่นั่งรถมาจากสายใต้แล้วต้องการเข้าไปในแก่งกระจานขึ้นรถ รถวิ่งเลียบคลองชลประทาน(คลองสายสอง)ไปประมาณสิบกิโลเมตร สองข้างทางเขียวชอุ่มดีครับ เป็นเรือกสวนไร่นาแทบทั้งสิ้น ในตอนนั้นผมแทบไม่สนใจและเห็นคุณค่าวิวทิวทัศน์แบบนั้นเลยเพราะเห็นจนชินตา จนกระทั่งเติบโตพร้อมกับธรรมชาติที่ถูกทำลายโดยความเจริญทางวัตถุ กลับกลายเป็นว่าทุกวันนี้มนุษย์โหยหาธรรมชาติแบบนั้นอีกครั้ง และยังหาคำตอบให้ตัวเองไม่ได้ว่าแท้จริงแล้วความเจริญแบบบ้าคลั่งมันดีจริงหรือ รถวิ่งมาจนถึงเขื่อนเพชรแล้วเลี้ยวลงทางลาดโค้ง ผ่านสะพานซึ่งคนพื้นที่เรียกว่าสะพานเบี่ยงเป็นสะพานข้ามแม่น้ำเพชรบุรี สะพานนี้เป็นสะพานแนวระนาบไม่สูงจากแม่น้ำมากนัก พอถึงช่วงน้ำหลากสะพานจะถูกแม่น้ำท่วมจนมิด การสัญจรจะเปลี่ยนไปใช้ถนนที่ผ่านตัวเขื่อนเพชรแทน ถัดจากสะพานเบี่ยงจะเป็นหมู่บ้านคอละออม ถนนช่วงนี้ผมชอบเป็นพิเศษด้วยความที่ตลอดระยะทางเกือบสองกิโลเมตรจะเป็นป่าไผ่กอสูงๆรกครึ้ม กิ่งก้านของมันสองฟากฝั่งถนนโน้มมาชนกันจนกลายเป็นอุโมงค์ ทำให้เวลากลางวันต่อให้แดดแรงแค่ไหนแต่เมื่อผ่านอุโมงค์นี้จะร่มรื่นทุกครั้ง บรรยากาศออกแนวคลาสสิค เวลากลางคืนไม่ต้องพูดถึงบรรยากาศหนังผียังไงยังงั้น จากนั้นรถจะเลี้ยวขวามาตามถนนสาย 3329 อีกประมาณสี่กิโลเมตรผมก็ต้องลงแล้วล่ะเพราะจะถึงปากทางเข้าหมู่บ้านพ่อแล้ว ลงรถผมเดินไปจ่ายเงิน สมัยนั้นเด็กก็คนละเก้าบาทครับ แหม.จะแพงทำไม น้ำมันเบนซินลิตรละสิบบาท น้ำมันดีเซลหรือโซล่าลิตรละแปดบาทเท่านั้นเอง
ปากทางเข้าหมู่บ้านของผมคือหมู่บ้านห้วยเสืออยู่ในพื้นที่ของอำเภอท่ายาง เมื่อรถจอดก็เห็นพ่อนั่งรออยู่บนมอเตอร์ไซต์แล้ว ด้วยความที่ตอนนั้นไม่มีโทรศัพท์ ดังนั้นการมารับพ่อต้องนัดผมล่วงหน้าหลายวันแล้วกะเวลามารอเอาเอง พ่อพาเราสองพี่น้องซ้อนท้ายเข้าไปตามทางที่ผ่านหลายหมู่บ้าน ผ่านบ้านห้วยเสือ บ้านวังไคร้ บ้านหนองกระทุ่ม แล้วจึงจะถึงหมู่บ้านของพ่อแม่ผม “บ้านท่าหัวลบ” ตอนนั้นพ่อยังเป็นครูใหญ่อยู่ที่โรงเรียนบ้านท่าหัวลบ ส่วนแม่เป็นครูสอนที่โรงเรียนวัดวังไคร้ บ้านของเราอยู่ตรงข้ามกับโรงเรียนพ่อพอดี เป็นสถานที่ทำงานในฝันมากเพราะใกล้บ้าน บ้านพ่อเป็นบ้านไม้สองชั้นด้านหน้าเป็นถนนหมู่บ้านมีต้นมะยมที่ไม่ค่อยจะออกลูกอยู่สองต้น ด้านข้างบ้านและหลังบ้านรายล้อมไปด้วยสวนกล้วยและสวนชะอม พ่อและแม่นอกจากจะเป็นครูซึ่งมีเงินเดือนไม่มากนักตามวิถีของข้าราชการไทย ยังทำสวนเป็นอาชีพเสริมด้วย ในตอนเย็นเราก็จะไปช่วยพ่อตัดชะอมแล้วนำไปขายแม่ค้าในหมู่บ้าน ก็จะได้เงินกลับบ้านครั้งละสองถึงสามร้อยบาท ในบางครั้งแม่ก็จะนำผลผลิตในไร่เช่นกล้วยและมะม่วงใส่เข่งแล้วขึ้นรถบรรทุกรับจ้างซึ่งวิ่งบริการพาชาวสวนเข้าไปขายที่กรุงเทพฯ ชีวิตครอบครัวเราก็ยังลำบากกันพอสมควรครับแต่สิ่งหนึ่งที่ผมจดจำมาใช้ถึงตอนนี้คือ ถึงแม้จะเหนื่อยยากแค่ไหนแต่พ่อและแม่ไม่เคยแสดงท่าทีนั้นให้ผมและน้องเห็นเลย เราจะเห็นแต่ใบหน้าที่เปื้อนยิ้มของทั้งคู่ ช่วงนั้นพ่อผมทำอาชีพเสริมหลายอย่างเลย นอกเหนือจากการเป็นครูและทำไร่แล้ว พ่อยังเป็นโปรโมเตอร์มวย อีกทั้งอุตส่าห์ไปซื้อรถไถเพื่อมารับจ้างไถที่ แต่ท้ายที่สุดก็ยังไม่สามารถสร้างฐานะให้ดีขึ้นได้ แม่มาเล่าให้ฟังตอนหลังว่าบางวันพ่อควานหาเศษเงินเศษเหรียญตามฝาบ้านด้วยหวังว่าจะมีสักสิบยี่สิบบาทเลยทีเดียว ซึ่งผมได้ฟังก็พูดไม่ออกครับสงสารพ่อแม่ ช่วงปิดเทอมเล็กผมเที่ยวเล่นอยู่บ้านพ่อได้สองสัปดาห์ก็ต้องกลับบ้านยายเตรียมตัวรับเปิดเทอม 2
วันฟังผลสอบผมขี่จักรยานไปโรงเรียนด้วยความตื่นเต้น อยากรู้ตัวเองจะได้เกรดเฉลี่ยเท่าไร เมื่อรับสมุดผลการเรียนเล่มแรกในระดับมัธยมศึกษามาจากครูแล้ว ผมค่อยๆแง้มออกดูทีละน้อย บรรจงเลื่อนกระดาษออกด้านข้างช้าๆเหมือนพวกผีพนันเปิดดูไพ่ เอาล่ะเลขอะไรจะอยู่ข้างหน้านะ 1 หรือ 2 หรือ 3 ลุ้นๆๆๆๆ ...ตึ๊กตั๊ก ตึ๊กตั๊ก... สะ สะ สาม เลข 3 ครับ เทอมแรกในโรงเรียนพรหมานุสรณ์ฯ ผมได้เกรดเฉลี่ย 3.26 ไม่รู้ว่ามากหรือน้อยล่ะแต่ถ้าสามกว่ามันก็น่าจะเยอะอยู่ (และผมก็ไม่เคยได้เกรดมากไปกว่านี้อีกเลยจนจบการศึกษา จะวนเวียนอยู่ที่ 3.0-3.2 นี่ล่ะ เป็นคนที่คงเส้นคงวาจริงๆ) ผมรีบกลับบ้านเอาสมุดพกไปอวดยายและน้า ได้รับคำชมเชยเป็นการใหญ่ ยายผมดีใจแบบนี้คงกินหมากและพลูหมดกระจาดแน่ จากนั้นเทอมสองผมก็ยังใช้ชีวิตตามเดิมครับ เรียน กินข้าวจากปิ่นโต เล่นซ่อนหาซึ่งระวังหมามุ่ยมากขึ้นและสุดท้ายก็จบการศึกษาในชั้น ม.1 ไปแบบไม่ยากเย็นนัก
ขึ้น ม.2 ห้องเรียนของผมอยู่ที่อาคาร 5 เป็นตึกสี่ชั้นด้านล่างเป็นใต้ถุนโล่งสำหรับประชุมนักเรียนและทำกิจกรรมต่างๆ ตึกนี้อยู่บริเวณชายแดนด้านทิศตะวันออกของโรงเรียนติดกับ วัดพระพุทธไสยาสน์ หรือวัดพระนอน หลังตึกมีสระน้ำกว้างใหญ่มีน้ำพุตรงกลางสระ พร้อมศาลาหลังเล็กไว้พักผ่อนหย่อนใจ กำแพงโรงเรียนด้านนี้พวกรุ่นพี่รุ่นก่อนมาวาดภาพลงสีไว้ เป็นภาพเกี่ยวกับวัฒนธรรมและสถานที่ท่องเที่ยวของจังหวัดเพชรบุรีสวยดีครับ กำแพงด้านนี้เป็นด้านเดียวของโรงเรียนที่ผมไม่คุ้นเคย ผิดกับกำแพงด้านอื่นที่ผมปีนมาหมดแล้ว อาจจะเป็นเพราะด้านนอกกำแพงมันเป็นแอ่งน้ำกว้างมีวัชพืชและป่าละเมาะรกครึ้ม เกรงว่าถ้าปีนเพื่อออกไปทำธุระปะปังนอกโรงเรียนในเวลาเรียนปกติงูหรือสัตว์มีพิษมันจะกัดผมและเพื่อนร่วมอุดมการณ์ก็เลยเปลี่ยนไปออกด้านอื่นแทน พูดถึงวัดพระนอนแล้วต้องนึกถึงพ่อของผม แกเป็นเด็กวัดพระนอนเมื่อตอนเรียนพรหมาฯประมาณปี 2504 พ่อมักเล่าเรื่องการเป็นเด็กวัดที่นี่ให้ฟังเสมอยามแกดื่มเหล้า <วัดพระพุทธไสยาสน์ อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเขาวัง เป็นวัดเก่าแก่ไม่ปรากฏหลักฐานว่าสร้างขึ้นเมื่อใด สันนิษฐานว่าเป็นวัดที่มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยาซึ่งมีพระพุทธไสยาสน์ก่ออิฐถือปูน ยาว 21 วา 1 ศอก 1 คืบ 7 นิ้ว เดิมสร้างไว้กลางแจ้ง ต่อมาสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างหลังคาคลุมไว้ พร้อมทำผนังรอบองค์พระ เป็นลักษณะวิหารพระพุทธไสยาสน์> สำหรับชั้น ม.2 วิชาทั่วไปก็ปกติคล้ายกับปีที่แล้วแต่ในวิชาช่างจะเปลี่ยนมาเรียนเขียนแบบ ซึ่งแน่นอนว่าด้วยฝีมือด้านศิลปะการขีดเขียนวาดเส้นของผมเกรดในวิชาจำพวกนี้ไม่เคยได้เกินเกรด 2 แต่วิชาสุดฮิตติดท๊อปชาร์ทที่เด็ก ม.2 ในสมัยนั้นบวกลบรุ่นไปอย่างละสิบรุ่นจดจำได้ดีคือวิชาสุขศึกษาของอาจารย์เกษม ถึงแม้วิชาของแกจะไม่ใช่การสอนเพศศึกษาแบบโจ๋งครึ่ม ไม่มีนางแบบมาประกอบการสอน แต่ที่จดจำได้เพราะเด็กพรหมาฯ ม.2 ทุกคนจะต้องผ่านการตรวจองคชาติในวิชาของแก มีการให้คะแนนซะด้วย ผมจำวันที่เจ้าหนอนน้อยชาเขียวของผมถูกปล่อยสู่สายตาผู้อื่นเป็นครั้งแรกได้ดี วันนั้นหลังจากทานอาหารกลางวัน คาบ 5 เป็นวิชาสุขศึกษา อาจารย์เกษมเดินหอบแฟ้มและไม้เรียวเข้ามาในห้อง แกสั่งให้นักเรียนไปยืนเรียงแถวหน้าห้องแล้วฟังแกเรียกชื่อเข้าไปทีละคน ผมมองลงไปด้านล่างเห็นพี่ผู้หญิง ม.ปลายยืนมองพวกเราที่เรียงรายหน้าห้องแล้วพากันหัวเราะ บอกตรงๆโครตอายแทบจะแทรกแผ่นดินหนี ผมมองดูเพื่อนที่ทยอยเข้าและออกห้องไปทีละคนๆ ใกล้คิวเราแล้วสินะ “เอ้าคนต่อไป ด.ช.ภาคย์” เสียงกังวานดุจเสียงซิมโฟนี่ดังมาจากในห้อง ผมค่อยๆก้าวย่างเข้าไปด้านใน อาจารย์เกษมนั่งอยู่ที่โต๊ะ มีไม้เรียววางอยู่ด้วย เฮ้ย...ครูจะหวดมังกรน้อยของผมหรือครับ “ถอดกางเกง” เสียงมัจจุราชสั่ง ผมค่อยๆปลดเข็มขัดแล้วปลดตะขอกางเกงออก “เฮ้ย เร็วๆสิ เป็นตุ๊ดรึไง ครูก็ผู้ชายเธอจะอายทำไม” นั่นสิครับ ครูก็เป็นผู้ชายมีทุกสิ่งอย่างเหมือนผมทุกอย่าง ถึงแม้ตอนนี้ขนาดมันจะยังไม่โตเต็มวัยเหมือนครู แล้วครูจะมาดูทำไม ผมตัดใจรูดกางเกงไปกองไว้เหนือเข่า เบือนหน้าหนีครูด้วยความอุธัชเอียงอาย “อ้าวเกษม ตรวจจู๋เด็กอยู่เหรอ” ชิบหายแล้ว เสียงครูอนงค์ ครูสอนฟิสิกส์เด็ก ม.ปลายนี่หว่า ไม่นะ “เข้ามาสิอนงค์ มาช่วยตรวจเด็กหน่อยสิ ตาลายแล้วว่ะ” ให้โลกแตกตอนนี้ได้ไหมครับ ธรรมดาครูเกษมคนเดียวก็โครตอายแล้ว นี่ครูยังมีหน้าไปเชื้อเชิญผู้หญิงแถมยังเป็นหญิงแก่มาดูของผม ไม่นะ “เอ้า ยืนตรงๆ อย่าอายมาก นั่นๆหดหมดแล้ว” ครูอนงค์แซวผมและหัวเราะเป็นการใหญ่ เอ้าอยากดูนักดูให้สบายใจ ครูเกษมใช้ไม้เรียวมาเขี่ยของผมพลิกซ้ายป่ายขวาสามสี่รอบ “อืม สะอาดพอใช้ ดูแลรักษาความสะอาดด้วยนะ เอาล่ะไปได้” เสียงสวรรค์ ผมรีบดึงกางเกงขึ้นมาแล้ววิ่งไปนอกห้องอยากจะหนีสายตาของผู้คนไปให้ไกลแสนไกล
นอกจากจะมีการเรียนการสอนอย่างตรวจกระจู๋แล้ว อาจารย์เกษมยังมีกิจกรรมนอกตำราให้ทำอีก เช่นการให้ปลูกต้นเฟื่องฟ้า อันนี้ประกอบคะแนนจิตพิสัยหรือจิตพิศวาส 10 คะแนน สถานที่ปลูกจะเป็นช่องว่างระหว่างอาคาร 5 กับอาคารมิตรเมตตาหรือโรงอาหาร เชื่อได้เลยว่านักเรียนพรหมานุสรณ์หลายต่อหลายคนงงว่าว่าอาคารมิตรเมตตาคือที่ไหน ฮ่า ฮ่า พื้นที่ตรงนี้กว้างพอจะให้นักเรียนชั้น ม.2 ทั้งแปดห้องๆละสามสิบกว่าคนปลูกต้นไม้ วันเสาร์ถัดจากนั้นผมต้องขี่จักรยานไปหาซื้อต้นเฟื่องฟ้ากระถางละสิบห้าบาทมาหนึ่งต้น แล้วก็นำจอบมาขุดหลุม บรรจงหย่อนต้นไม้ลงไป จากนั้นทุกเช้าก่อนเคารพธงชาติจะต้องมารดน้ำต้นไม้และตัดแต่งกิ่งให้มันสวยงาม น้ำที่ใช้รดน้ำเราต้องใช้กระป๋องไปตักในสระหลังอาคาร 5 แรกๆก็น่าเบื่อครับทำไมมันไม่ยอมโตสักที แต่พอผ่านไปสักเดือนต้นไม้เริ่มโตขึ้น พวกเราที่เฝ้าประคบปะหงมต้นเฟื่องฟ้าเหล่านี้ก็มีกำลังใจและเริ่มสนุกไปกับการดูแลมัน หลังจากนั้นก่อนสอบปลายภาค 2 พื้นที่ก็ถูกปกคลุมไปด้วยดงเฟื่องฟ้าน้อยใหญ่หลายสีแผ่กิ่งก้านสาขาและออกดอกละลานตาไปหมด ถึงแม้ตอนนั้นผมจะบ่นว่ากิจกรรมนี้มันช่างน่าเบื่อเป็นที่สุด แต่เมื่อโตมาแล้วผมก็อยากให้แต่ละโรงเรียนทำแบบนี้นะ เป็นการฝึกความรับผิดชอบและรักต้นไม้ให้กับเด็ก
วันเวลาผ่านไปจนถึงการสอบปลายภาคเทอม 2 เรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นมาสองปีแล้ว เริ่มเป็นวัยรุ่นติดเพื่อนนิดๆ เท่าที่จำได้ตอนนั้นในโทรทัศน์มีโฆษณาน้ำอัดลมยี่ห้อหนึ่ง เป็นกลุ่มเพื่อนพากันเดินทางไปท่องเที่ยวโดยการเดินทางด้วยรถไฟ นั่งดีดกีตาร์และร้องเพลงในโบกี้เป็นที่ประทับใจผู้ชมแบบผมมาก ดังนั้นเนื่องในโอกาสสอบเสร็จกลุ่มของผมเลยนัดแนะกันว่าปิดเทอมนี้จะไปเที่ยวกันโดยรถไฟบ้างหวังจะให้เท่ห์แบบในโฆษณา คุณทะนงหรือไอ้นงก็เลยเสนอให้ไปเที่ยวบ้านมันที่อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จนเมื่อสอบวันสุดท้ายเสร็จกลุ่มของเราซึ่งประกอบไปด้วย ไอ้นง ไอ้ต้อง ไอ้กุ๊ก ไอ้เชษฐ ไอ้นำ ไอ้พร และตัวผมไปเปลี่ยนชุดที่บ้านไอ้กุ๊กตรงหน้าวัดคงคาราม จากนั้นนั่งรถเล้งไปสถานีรถไฟเพชรบุรี พูดถึงรถเล้งที่มีวิ่งกลาดเกลื่อนในอำเภอเมืองเพชรบุรีแล้วต้องขยายความซะหน่อย รถเล้งคือรถโดยสารสี่ล้อขนาดเล็ก ตัวรถสีขาว กะบะตอนหลังมีหลังคาและมีเก้าอี้ยาวสองแถว วิ่งรับส่งผู้โดยสารในตัวอำเภอเมืองเพชรบุรี ส่วนที่เรียกว่ารถเล้งก็เพราะผู้บุกเบิกวิ่งรถประเภทนี้คือคนจีนชื่อ “เจ๊กเล้ง” รถเล้งจอดส่งพวกเราหน้าสถานีรถไฟที่สถาปัตยกรรมยังคงกลิ่นอายของอดีต สถานีรถไฟเพชรบุรีนั้นสร้างในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นสถานีปลายทางของรถไฟสายใต้โดยในสมัยนั้นเรียกว่า "ทางรถไฟสายเพชรบุรี” จนเมื่อถึงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงได้มีการสร้างต่อไปยังสุไหงโกลก จังหวัดนราธิวาสไปบรรจบกับทางรถไฟของประเทศมาเลเซียที่สถานีรถไฟรันเตาปันจาง ความยาวของทางรถไฟสายใต้รวมทั้งสิ้น 1,144.29 กิโลเมตร เป็นทางรถไฟสายที่ยาวที่สุดในประเทศไทย หวังใจว่าสักวันหนึ่งคงได้นั่งจนสุดสายให้เป็นเกียรติประวัติกับตนเองบ้าง พวกเราตีตั๋วไปลงสถานีวังก์พงซึ่งเป็นบ้านของไอ้นง ค่ารถไฟคนละ 20 บาท ได้ตั๋วรูปร่างยาวๆแล้วพวกเราก้าวเท้าขึ้นรถไฟด้วยความคึกคักหวังจะให้เหมือนในโฆษณา แต่..แต่..แต่ผิดคาดจากในโทรทัศน์ครับ ในโฆษณาเขานั่งเล่นกีตาร์และร้องเพลงในโบกี้ที่ว่างจนเหมือนเป็นโบกี้ส่วนตัว แต่วันนั้นผู้คนไม่รู้หลั่งไหลหรือชื่นชมรถไฟไทยอะไรกันนักหนา คนเต็มทุกโบกี้จนคณะลิงเขาวังอย่างพวกผมต้องมานั่งตรงช่วงต่อระหว่างโบกี้ เซ็งจิต..แต่นั่งตรงนี้ก็รู้สึกดีครับเห็นวิวทิวทัศน์ข้างทางชัดเจน เสียงรถไฟไทยดัง ฉึกฉักๆๆๆๆ ตื่นเต้นครับเพราะนี่คือการเดินทางมาเที่ยวกับเพื่อนโดยลำพังครั้งแรก รถไฟออกจากสถานีเพชรบุรี ผ่านอีกสิบกว่าสถานีกว่าจะถึงบ้านไอ้นง จนรถไฟจอดเทียบชานชาลาสถานีวังก์พง รวมระยะทางทั้งสิ้น 84 กิโลเมตร แม่ของไอ้นงมารอรับเราที่สถานีแล้วพาไปที่บ้าน บ้านของไอ้นงทำไร่สับปะรด ซึ่งเป็นอาชีพหลักอย่างหนึ่งของคนละแวกนี้นอกเหนือจากการทำประมง บ้านของนงเป็นบ้านกึ่งไม้กึ่งปูนสองชั้นใหญ่โตพอสมควร แสดงว่าการทำไร่สับปะรดก็ทำให้เรารวยได้
คืนแรกเรานอนที่บ้านไอ้นงสะดวกสบายดี อาหารการกินเพียบโดยเฉพาะอาหารทะเล กุ้ง หอย หมึก ปู ปลา มีอย่างไม่อั้น คืนนั้นเราประชุมกันแล้วลงความเห็นว่าพรุ่งนี้อยากไปนอนที่ชายทะเลสักแห่ง ดังนั้นช่วงสายๆของวันถัดมาพี่สาวมันเลยพาเราขึ้นรถกะบะแล้วไปส่งที่ชายทะเลแห่งหนึ่ง ติดกับหมู่บ้านชาวประมง บรรยากาศเงียบสงบมากได้ยินแต่เสียงคลื่นกระทบฝั่งดังครืนๆ “พักที่เขาเต่าแล้วกันนะ เงียบดี พวกเธอจะได้เล่นสนุกกันเต็มที่”พี่สาวไอ้นงบอกแบบนี้พร้อมกับยกเสบียงที่จัดใส่ตะกร้ามาให้พวกเรา “พรุ่งนี้เที่ยงพี่จะมารับนะ” แล้วแกก็ขับรถกลับบ้านไปทำไร่ ทิ้งลิงทะโมนเจ็ดตัวให้อยู่ตรงชายทะเลอันแสนสงบนี้ สำหรับที่พักในคืนนี้น่ะเหรอ สามสิบปีที่แล้วที่แห่งนี้เป็นชายหาดที่เงียบสงบ ไม่เป็นทีนิยมของนักท่องเที่ยวมากนัก มีเพียงชาวบ้านในพื้นที่ที่เข้ามานั่งทานอาหาร เล่นน้ำ ตกปลา รีสอร์ทหรือโรงแรมไม่มีให้พวกเราสิงสถิต ยังดีที่ไอ้นงมันมีเต็นท์อยู่สองหลัง เราก็เลยพากันกางเต็นท์ที่ชายหาด เขาเต่านั้นตั้งอยู่ที่ตำบลหนองแก อยู่ห่างจากตัวอำเภอหัวหินประมาณ 13 กิโลเมตรเป็นภูเขาเล็กๆ ที่หันหน้าท้าคลื่นลมกับท้องทะเล มีชายหาดเล็กๆ อยู่สองแห่ง นั่นก็คือหาดทรายน้อยและหาดทรายใหญ่ บริเวณที่พวกผมกางเต็นท์นอนคือหาดทรายน้อย เป็นชายหาดทรายยาวประมาณ 300 เมตร แต่มากด้วยเสน่์ห์ ตั้งอยู่อยู่ระหว่างภูเขาหินสองลูก ชายหาดค่อนข้างชันทำให้คลื่นที่หาดทรายน้อยนี้จะใหญ่กว่าปกติ เวลาคลื่นซัดเข้าหาฝั่งก็จะมีเสียงดัง เกิดละอองและฟองน้ำจำนวนมาก สวยงามแปลกตากว่าชายหาดอื่นๆ พวกเราทั้งเจ็ดคนเล่นน้ำกันอย่างสนุกสนานส่งเสียงดังโหวกเหวกได้เต็มที่เพราะนอกจากพวกเราแล้ว ไม่มีสิ่งมีชีวิตอื่นใดเลยในบริเวณนี้ พอตกบ่ายเราไปเดินเล่นที่ “หมู่บ้านชาวประมงเขาเต่า" ที่อยู่ห่างจากชายหาดนิดเดียว เป็นหมู่บ้านเล็กๆ ที่ความเจริญทางวัตถุยียังไม่สามารถเข้าไปทำลายความเป็นอยู่ดั้งเดิม กลิ่นอายของความเป็นอยู่เมื่อครั้งวันวานยังคงตลบอบอวลให้ได้สูดอดีตเสมอ ที่หมู่บ้านแห่งนี้เราจะพบกับเรือหาปลาลำไม่ใหญ่ไม่โตจอดเรียงรายรอเวลาออกไปสู่ท้องทะเล ป้าคนขายก๋วยเตี๋ยวบอกพวกเราด้วยความเอ็นดูว่าให้ลองขึ้นไปเที่ยวบนเขาเต่า ด้านบนมี วัดถ้ำเขาเต่า ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานหลวงพ่อองค์ใหญ่ “พระพุทธศากยชินมหาราช” อีกทั้งสามารถชมวิวทิวทัศน์อันสวยงามของท้องทะเลบริเวณนี้
เราไหว้พระและเดินชื่นชมกับทิวทัศน์บนเขาอยู่พักใหญ่ก็ลงไปยังชายหาดเพราะเย็นมากแล้ว ลงไปถึงชายหาดก็เห็นแม่ไอ้นงกับพี่สาวมันนั่งรออยู่ เตรียมเสบียงมาให้อีกพะเรอเกวียน คืนนั้นเราเลยก่อกองไฟกันริมชายหาด ย่างอาหารทะเลและดีดกีตาร์ร้องเพลงกันสนุกสนาน กว่าจะนอนก็ปาเข้าไปเที่ยงคืน ขอบอกว่าเสียงคลื่นกระทบฝั่งบวกกับเสียงลมหวีดหวิวทำให้บริเวณนี้ดุจสวรรค์สำหรับเด็กน้อยอย่างพวกเราก็มิปาน สมัยนั้นการบันทึกรูปภาพอะไรมันไม่สะดวกเหมือนกับตอนนี้ โชคดีที่ไอ้ต้องมันมีกล้องถ่ายรูปมาด้วย ทริปนี้ถ่ายกันไปประมาณสามม้วนฟิล์ม ช่วงเที่ยงของวันถัดมาพี่สาวไอ้นงมารับที่ชายหาด พวกเรากลับไปถึงบ้านก็อาบน้ำอาบท่า กินข้าว พวกเราคณะลิงเขาวังก็เดินทางกลับเพชรบุรี โดยมีของฝากติดไม้ติดมือไปฝากญาติพี่น้องทางบ้านคนละหลายชะลอม “ลาก่อนนะปราณบุรี อีกไม่นานจะกลับมา” พวกผมคิดแบบนี้แต่ท้ายที่สุดเราก็ไม่เคยไปเขาเต่าอีกเลยตราบจนทุกวันนี้ เอาล่ะหลังจากนี้อีกหนึ่งเดือนก็จะขึ้น ม.3 แล้ว ยะฮู้ว!!!



ทรายละเอียด
เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อ : 17 มี.ค. 2559, 12:43:57 น.
แก้ไขครั้งล่าสุด : 17 มี.ค. 2559, 12:43:57 น.

จำนวนการเข้าชม : 1374





<< ปฐมบทชีวิต   รักครั้งแรก >>
เข้าระบบ เพื่อแสดงความคิดเห็นด้วย weblove account