ลิขิตนครา มนตราบาบิโลน

ในหน้าประวัติศาสตร์อันรุ่งโรจน์เเละโกลาหลแห่งอารยธรรมเมโสโปเตเมีย หรือตะวันออกใกล้โบราณ ณ อาณาจักรบาบิโลเนียผุดนามชนชาติหนึ่งที่ปกครองอาณาจักร พวกเขาเรียกตัวเองว่า ชาวคัชดู ขณะชาวกรีกเรียกพวกเขาว่า ชาวคาลเดียน


อาณาจักรของพวกเขายืนยงเพียง 75 ปี แต่กลับสรรค์สร้างสิ่งต่างๆ ให้โลกมากมาย


พวกเขาคือผู้สร้างสวนลอยบาบิโลน พวกเขาคือผู้บุกเบิกดาราศาสตร์ โหราศาสตร์ เเละคณิตศาสตร์ ผลงานของพวกเขาคือต้นเค้าความรุ่งเรืองแห่งอารยธรรมกรีกเเละโรมัน


ทว่าจะเป็นเช่นไร เมื่อนักบวชแห่งมหาเทพมาร์ดุคล่วงรู้ถึงชะตากรรมการล่มสลายเเห่งอาณาจักร


ทางเเก้วิธีเดียวคือ การอ้อนวอนร้องขอต่อทวยเทพประจำนครา



เเละทวยเทพก็มิได้พระทัยร้ายเกินรับฟัง ด้วยเหตุนี้บุรุษและสตรีคู่หนึ่งจึงถูกสรรค์เสกเพื่อสนองต่อคำขอนั้น



หนึ่งบุรุษ...เพชกัลดาราเมช เจ้าชายรัชทายาทแห่งอาณาจักรบาบิโลเนีย



หนึ่งสตรี...นลินนา เทวาสถิต นักศึกษามานุษยวิทยาสาวผู้ถูกส่งข้ามห้วงกาลเวลา



และนี่คือประวัติศาสตร์บทใหม่ที่ถูกถักทอ เรื่องราวของอาณาจักรโบราณอันได้ชื่อว่า เป็นมหานคราที่ใหญ่ที่สุดในโลกยุคโบราณ เเละเกือบได้เป็นเมืองหลวงแห่งจักรวรรดิกรีกของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช


ประวัติศาสตร์หน้าใหม่ถูกเขียนขึ้นแล้ว!
Tags: โรเเมนติก ดราม่า ย้อนเวลา ประวัติศาสตร์

ตอน: มัตติกาจารึกแผ่นที่ 3

มัตติกาจารึกแผ่นที่ ๓

เทศกาลอคิตู การเฉลิมฉลองก่อนฤดูเพาะปลูก วันที่ ๑๐ ก่อนวันสุดท้าย

สี่วันผ่านไป นลินนาทำใจได้มากขึ้น หล่อนตระหนักแล้วว่า สถานที่ที่ตนอยู่ไม่ใช่บ้านเกิดเมืองนอน และก็ไม่ใช่ยุคปัจจุบัน แม้จะจับต้นชนปลายอะไรไม่ได้ กระนั้นหล่อนก็ไม่ได้กระวนกระวายนัก ด้วยนักบวชสตรีนางนั้น หรือ นินซา คอยอยู่ดูแล และให้คำปลอบโยนอยู่ตลอด อีกทั้งยังสอนหลายสิ่งหลายอย่างในการดำรงชีวิตของที่นี่ให้ เพราะแม้นลินนาจะรู้ประวัติศาสตร์ของบาบิโลนใหม่ ภายใต้การปกครองของชาวคาลเดียน หรือชาวคัชดูในภาษาอัคคัดพอสมควร กระนั้นหล่อนกลับแทบไม่รู้วิถีชีวิตของคนที่นี่เลย เนื่องด้วยชาวคัชดูก็เหมือนกับชาวเมโสโปเตเมียชนชาติอื่น ๆ ที่ไม่นิยมฝังข้าวของเครื่องใช้ไปพร้อมกับคนตายเท่าอียิปต์ ทำให้โบราณวัตถุหลงเหลือมาน้อย ซ้ำยังถูกทำลายจากสงครามความขัดแย้งตลอดหลายสหัสวรรษ

นอกจากนี้อีกสาเหตุที่นลินนาไม่มีเวลากลัดกลุ้มในสถานการณ์ของตนตอนนี้นักก็เพราะว่า สมองหล่อนกำลังแตกเป็นเสี่ยง ๆ !

เบื้องหน้านลินนาคือ มัตติกาจารึกเป็นกองพะเนิน ข้าง ๆ กันคือ เศษเครื่องปั้นดินเผา โถหมึก พร้อมปากกาและพู่กันกก

นลินนาเคยเรียนมาหลายภาษา ภาษาไทย ภาษาอังกฤษอันเป็นภาษาพื้นฐาน และภาษาฮินดี ภาษาอาหรับ ภาษาสันสกฤต ทั้งที่ตนอยากเรียนเอง และมารดาขอให้เรียน ทว่าหล่อนก็ทยอยเรียนทีละภาษา เพื่อให้เชี่ยวชาญ และกันไม่ให้สับสน

แต่นักบวชนินซาทำกลับกัน ด้วยหญิงสาวต้องเรียนภาษาซูเมอร์ ภาษาอัคคัด และภาษาอราเมอิกในคราวเดียว บทเรียนถาโถมจนเธอแทบอยากสิ้นใจ ซ้ำยังต้องหัดพูดภาษาอัคคัดแลภาษาอราเมอิกอยู่ตลอด หากระหว่างคุยกัน แล้วนินซาเปลี่ยนภาษาพูด แต่เธอตอบไม่ได้ แส้หนังสัตว์ก็จะฟาดลงบนต้นแขนจนน้ำตาแทบเล็ด

“เจ้าต้องหัดพูดสองภาษานี้ให้เชี่ยวชาญ” ดวงตาดำคมอย่างคนเชื้อสายเซมิติก ชนเผ่าเร่ร่อนในทะเลทรายเขม็งดุ “ชาวบ้านส่วนใหญ่พูดแค่ภาษาอราเมอิก ส่วนภาษาอัคคัดเป็นภาษากลางของชนชั้นสูง ถ้าเจ้าพูดสองภาษานี้ได้ เจ้าก็รอด”

นินซาพูดให้ฟัง ขณะกุมแส้ดูเธอจิ้มปากกากกลงบนแผ่นดินเหนียวจึก ๆ พอคัดภาษาอัคคัดแลภาษาซูเมอร์อันเป็นอักษรลิ่มเสร็จ เธอก็ต้องเบือนมาตวัดพู่กันกกลงบนเศษเครื่องปั้นดินเผาต่อ ภาษาอราเมอิกง่ายหน่อยตรงคล้ายอักษรโรมัน เพราะชาวอราเมียนรับเอาอักษรของชาวฟินิเชียนอันเป็นต้นเค้าของอักษรโรมันมา ซ้ำนลินนายังทราบอีกว่า คราพระเยซูเผยแผ่ศาสนาก็ใช้ทรงภาษาอราเมอิกในการเผยแผ่ แม้กระทั่งในยุคปัจจุบันภาษาอราเมอิกยังเป็นภาษาศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาคริสต์บางนิกาย1

นินซาคุมจนกระทั่งเห็นว่า เธอคัดพอแล้วก็ให้พัก

นลินนาแทบทรุดฮวบ สาวใช้ช่วยเก็บอุปกรณ์การเขียนต่าง ๆ ไปกองไว้มุมห้อง แล้วจึงยกสำรับมาให้ ในมื้อยังคงมีเบียร์เหยือกใหญ่เช่นเคย นลินนาเคยดื่มกินร่วมกับนักบวชสตรีในวิหาร แล้วพบว่า คนที่นี่ดื่มเบียร์กันเป็นเหยือก ๆ อย่างน่ากลัว ยิ่งทาสในวิหารที่กินได้เพียงสองมื้อคือเช้ากับเย็นนั้น จะกินขนมปังธรรมดา ๆ เพียงสองก้อน แต่กลับดื่มเบียร์ตามถึงสองเหยือก หญิงสาวเคยถามว่า ขอเปลี่ยนจากเบียร์เป็นน้ำเปล่าหรือน้ำนมได้หรือไม่ ก็โดนถามว่า “เจ้าไม่สบายหรือ?”

หญิงสาวจึงได้รู้ว่า ชาวคัชดูไม่ดื่มน้ำนม จะใช้ในการผสมยาเท่านั้น

ชีวิตตลอดสี่วันมานี้แปลกใหม่และวุ่นวายจนหญิงสาวลูกครึ่งไทยเปอร์เซียเลือน ๆ ความกังวลไปบ้าง ทว่ายามอยู่โดดเดี่ยวลำพังก็มักนึกถึงสหายรักและมารดาจับใจ กระเป๋าสะพายของหล่อนอันตรธานหาย คงพัดไปกับสายน้ำ เนื่องจากสอบถามนินซาแล้ว นางก็ทำหน้าไม่รู้ว่า กระเป๋าอะไร เพราะตอนพาเธอมาก็ไม่พบสิ่งใดติดตัว

เมื่อจัดการสำรับหมดเกลี้ยง สาวใช้ก็เดินเข้ามาในห้องอันเปิดอ้า ในยามกลางวัน ทุกห้องต้องเปิดประตู เพื่อรับแสงจากลานส่วนกลาง ส่วนตอนกลางคืนจะหับประตูสนิท และใช้ตะเกียงน้ำมันให้แสงสว่างแทน

คราแรก หญิงสาวลูกครึ่งไทยเปอร์เซียคิดว่า นางจะมาเก็บสำรับ ทว่าไม่ใช่ นางเรียก

“ท่านนลินนาเจ้าคะ หัวหน้านักบวชเรียกไปพบเจ้าค่ะ”

คำของสาวใช้ พาให้ร่างโปร่งลุกขึ้นอย่างงงงัน เดินตามไปจนถึงห้องของนักบวชสูงสุดแห่งเทพีแห่งความรัก กามารมณ์ และสงคราม

พลันกรายเข้าไปก็พบว่า นินซายืนรออยู่ก่อนแล้ว ขณะนักบวชสูงสุดนั่งคอยบนบัลลังก์งาช้างวิจิตร อาภรณ์ลินินขาวสว่างไสวรับกับทีท่าสงบนิ่ง ดวงหน้าอันงดงามและเรือนร่างอันสง่ามีบรรยากาศขรึมขลังคลุมอยู่ หมวกทรงสูงบนศีรษะ ชวนให้นักบวชสูงสุดดูราวกับประมุขแห่งศาสนจักร

“เรียกฉันมามีอะไรหรือคะ?” นลินนาเอ่ยถามเป็นภาษาซูเมอร์ จนนักบวชสูงสุดเผยยิ้มพึงใจ

“อืม...ออกเสียงดีขึ้น” คำชม ทำให้นินซาผู้สอนยิ้มพราย “วันนี้เทศกาลอคิตูเป็นวันที่ ๑๐ แล้ว พรุ่งนี้ก็จักเป็นวันสุดท้าย เจ้าอุดอู้ในนี้มานาน ข้าคิดว่า เจ้าควรออกไปดูงานเฉลิมฉลองสักหน่อย ตอนนี้ขบวนเฉลิมฉลองของเหล่าปวงเทพจะแห่แหนผ่านประตูอิชทาร์ต้อนรับฤดูใบไม้ผลิของเรา ข้าคิดว่า เจ้าควรไปเปิดหูเปิดตาเสียบ้าง ว่าไหมนินซา?”

คำของนักบวชสูงสุดแห่งมหาเทพีอิชทาร์ พาให้นักบวชสตรีนินซาหน้าเผือด ไม่เข้าใจดำริของนักบวชสูงสุด แต่สตรีผู้ถือกำเนิดจากมหาเทพีอิชทาร์ไม่ได้ล่วงรู้ถึงกลอุบาย หญิงสาวยิ้มแย้มแก้มปริ ตื่นเต้นกับการได้ออกสู่ภายนอก

นินซาได้เพียงมองพักตร์แห่งนักบวชสูงสุดอย่างไม่เข้าใจ ก่อนก้มหน้าก้มตาทำตามคำสั่งด้วยดวงใจกลัดกลุ้มเกินทน

สตรีผู้ถือกำเนิดจากมหาเทพีอิชทาร์เดินกลับห้องพักของตนรวดเร็ว รื้อหีบออกเปิดดูว่า มีอาภรณ์ใดบ้าง ก็พบว่า มีแต่ชุดลินินขาวล้วน ส่วนนินซาผู้ตามหลังมาอยู่ในชุดขนสัตว์ขาวสะอาด ปกตินินซาไม่เคยเงียบขรึมเท่านี้ แต่ครั้งนี้นลินนาสัมผัสได้

“เจ้ามิจำเป็นต้องผลัดอาภรณ์หรอก รีบไปเถิดจะได้รีบกลับ”

นินซากล่าวขรึม ๆ จนหญิงสาวงงงวย แต่ด้วยตนไม่ใช่พวกใส่ใจการแต่งตัวนัก จึงยอมปิดหีบ แล้วเดินตามไป กอบเก็บความตื่นเต้นไว้ไม่ไหว ด้วยอีกชั่วครู่ หล่อนจักได้ยลประตูเมืองอิชทาร์ ประตูอันเคยเป็นหนึ่งในเจ็ดสิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคโบราณก่อนถูกแทนที่ด้วยประภาคารฟารอสแห่งอเล็กซานเดรีย



เสียงดนตรีเฉลิมฉลองประโคมอึกทึก ขบวนแห่เทวรูปทวยเทพยาตราสู่นคราผ่านประตูเมืองอิชทาร์อันกรุด้วยกระเบื้องเคลือบสีลาพิส ลาซูรีตัดกับรูปสิงโต วัว แลมังกร สัตว์สัญลักษณ์แห่งสามมหาเทพเทพีผู้พิทักษ์นครอันเป็นกระเบื้องเคลือบสีเหลืองปนน้ำตาล ตลอดเส้นทางพระราชพิธีขนาบด้วยกำแพงปูกระเบื้องเคลือบสีลาพิส ลาซูรีเช่นกัน แต่ครานี้เหลือเฉพาะลายสิงโต สัตว์สัญลักษณ์แห่งมหาเทพีอิชทาร์เท่านั้น

ความมั่งคั่งอลังการทำให้นักเดินทางผู้เข้าร่วมเทศกาลปากอ้าตาค้าง เตรียมเก็บเรื่องไปเล่าขานระหว่างเดินทางแลในบ้านเมืองของตน ขณะชาวเมืองทวาราแห่งทวยเทพกำลังโห่ร้องต้อนรับชัยชนะของเทพมาร์ดุคเหนือเทพใต้พิภพ‘อีคิมมู’

รั้งท้ายขบวนแห่แหนทวยเทวัญคือ เชื้อพระวงศ์ผู้คอยคุมขบวนให้ดำเนินโดยราบรื่นตลอดพิธี เช่นเดียวกับทหารชาวคัชดูผู้ถือหอกขนาบตลอดเส้นทาง โดยเชื้อพระวงศ์เหล่านั้นกอปรด้วยเจ้าชายทั้งสามแห่งราชวงศ์คัชดู เรียงตามความอาวุโสคือ เจ้าชายเพชกัลดาราเมช เจ้าชายซามูลาเอล และเจ้าชายนาโบนัสซาร์ ความจริงแล้ว กษัตริย์อาเคอร์ดูอานาทรงมีพระโอรส ๔ พระองค์ แลพระธิดา ๑ พระองค์ แต่พระโอรสองค์สุดท้าย เจ้าชายซัลมาร์เนเซอร์ ปัจจุบันนี้ทรงดำรงตำแหน่งนักบวชสูงสุดแห่งเทพอีเอ เทพเจ้าแห่งปัญญา และพระธิดาเพียงองค์เดียวต้องทำตามขนบประเพณีคือ ไม่ออกจากราชวังโดยไม่จำเป็น จึงมิปรากฏเงาร่างของสองพระองค์

เจ้าชายทั้งสามทรงรถศึกตามขบวน พระอิริยาบถสงบนิ่งสมอยู่ในพิธีการ กระนั้นก็ยังมีสตรีทั้งในเมืองแลต่างเมืองชะโงกมุงดูจนทหารต้องขอร้องให้อยู่นิ่ง ๆ ทว่าพลันเจอสายตาพิฆาตของเหล่าสตรีเข้าไปก็ได้เพียงยืนนิ่งตามเดิม รำพึงรำพันในใจถึงความน่ากลัวของอิสตรี

ในประดาเจ้าชายทั้งสามพระองค์ เจ้าชายนาโบนัสซาร์ทรงหันไปแย้มพระสรวลให้มากที่สุดตามพระอุปนิสัยอ่อนโยนนุ่มนวล รองลงมาคือเจ้าชายเพชกัลดาราเมชผู้หันไปแย้มพระสรวลประทานพอเป็นพิธี เว้นเพียงเจ้าชายซามูลาเอลผู้ไม่หันไปแย้มพระสรวลเลย ซ้ำยังทำพักตร์บึ้งตึงรับสั่งลอดไรทนต์

“นาโบนัสซาร์ หากเจ้ายังไม่เลิกยิ้มให้สาว ๆ พวกนั้น ข้าจะจัดการเจ้า”

รับสั่งนั้น ทำให้เจ้าชายนาโบนัสซาร์หุบแย้มพระสรวลทันควัน ทิ้งให้สาว ๆ ส่งสายตาละห้อยเสียดาย มีเพียงเจ้าชายเพชกัลดาราเมชเท่านั้นที่อมยิ้มขัน ๆ กับพระอนุชาทั้งสอง

“เสด็จพี่ซามูลาเอลพ่ะย่ะค่ะ พวกนางบางคนดั้นด้นมาไกลเพื่อร่วมเทศกาลนี้ ก่อนกลับก็ควรให้พวกนางได้ชื่นใจเล็กๆ น้อยๆ”

รับสั่งอย่างมีพระอุปนิสัยดีเลิศ แต่พระเชษฐาซามูลาเอลไม่สนพระทัย

“หาใช่เรื่องอันควร เอาอย่างเสด็จพี่เพชกัลดาราเมชเสียบ้าง”

กระแสรับสั่งพาดพิงถึงพระเชษฐา ทำให้ผู้ถูกกล่าวถึงเบือนพระพักตร์ไปหมายมาดจะรับสั่งทีเล่นทีจริง ทว่าพลันเบือนพักตร์ บางสิ่งก็ชวนให้สะดุดสายตา

สตรีผมยาวสีน้ำตาลเข้มดุจคลื่น ดวงหน้างามราวรูปสลัก อาภรณ์ลินินขาวโพลนโดดเด่นเหนือประดาชุดขนสัตว์ย้อมสีสันสดใส ร่างโปร่งระหงเดินดุ่มแทรกฝูงชนมาพร้อมนักบวชสตรี ความแออัดเบียดเสียดทำให้ร่างนั้นโซซัดโซเซ นางทำท่าชะเง้อชะแง้หมายดูขบวนพิธีใกล้ ๆ ทว่ากลับโดนกลุ่มคนด้านหน้าดันเบียดถอยกรูด และแล้วนางก็เงยแลมา

พระหทัยพลันสะดุด ทว่าสุดท้ายนางก็แลเลยไป ด้วยถูกนักบวชสตรีรั้งให้เปลี่ยนจุดไปดูทางอื่นแทน

ทรงตกอยู่ในภวังค์ กระทั่งมีเสียงกระซิบเตือน

“เสด็จพี่เพชกัลดาราเมชพ่ะย่ะค่ะ”

เสียงเรียกนั่นดึงพระสติ ทรงกระตุ้นรถศึกอันเมื่อครู่เกือบหยุดชะงัก พระหทัยวาบหวิว ดนตรีประโคมดังไม่เท่าพระหทัยอันโครมคราม บางสิ่งกำซาบลึกสู่พระหทัย คล้ายโลหิตชุ่มฉ่ำหล่อเลี้ยงชีวิตให้ดำเนิน



ความอลังการของขบวนแห่ทวยเทวายังคงตรึงตาตรึงใจ แม้ผู้คนจะเบียดเสียดจนนลินนาแทบไม่ได้เยี่ยมหน้าชิดขบวน กระนั้นเพียงบรรยากาศก็พาให้หญิงสาวรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกับชาวคัชดูได้ไม่ยากเย็น หัวใจหล่อนยังระทึกโครมคราม ตื่นตากับความยิ่งใหญ่ของพิธีเฉลิมศกใหม่แห่งบาบิลิม น่าเสียดายพรุ่งนี้คือวันสุดท้าย แต่นินซากลับบอกว่า แม้จะต้องรอจนปีหน้าสำหรับพิธีใหญ่ แต่ที่นี่มีพิธีทุกเดือน แม้ไม่ยิ่งใหญ่เท่าพิธีนี้ก็ตาม

พลันกลับมา นลินนาก็ขอจารึกเกี่ยวกับเทศกาลอคิตูทันควัน แววตาตื่นเต้นแพรวพราวราวเด็ก ๆ ทำให้นักบวชสตรีอ่อนใจ ไปควานหามาให้จากห้องเก็บจารึกของวิหาร นักบวชสตรีมองหญิงสาวผู้รับจารึกไปด้วยประกายตาตื่นเต้น เอ่ยถาม

“เจ้าแน่ใจหรือว่า อ่านเองได้?” แม้เป็นผู้สอนเอง กระนั้นหญิงสาวเพิ่งเรียนได้ไม่นาน คงอ่านไม่คล่อง

“ฉันคิดว่า พอได้นะ ว่าจะลองอ่านด้วยตัวเองดู”

นักบวชสตรีชะงักงัน เมื่อเห็นความมุ่งมั่นของเจ้าตัวก็ไม่อยากขัด จึ่งเดินออกจากห้องพร้อมหับบานประตูสนซีดาร์ให้ ในห้องจึงมีเพียงแสงสลัวจากตะเกียงน้ำมันโรยเกลือกันเขม่า นลินนาพยายามโรยเกลือให้น้อยที่สุด เพราะเธอเคยใส่เยอะเกิน จนสาวใช้อุทานร้องว่า

“ใส่เยอะอะไรขนาดนั้นเจ้าคะ รู้ไหมว่า เกลือแพงกว่าทองเสียอีก”

หลังจากนั้นหญิงสาวจากอนาคตกาลก็เข็ดหลาบ ไม่กล้าใส่เกินกว่าปลายนิ้ว

นักศึกษาสาวภาควิชามานุษยวิทยาจุดตะเกียงเพิ่ม หยิบมัตติกาจารึกกับปากกากกปลายแหลมขึ้นจดภาษาอัคคัดแบบกระท่อนกระแท่น หล่อนจดความเชื่อ วิถีชีวิต และพิธีกรรมต่าง ๆ ของชาวคัชดูลงไป บันทึกที่ชาวต่างชาติเขียนเกี่ยวกับชนชาติอื่นทางมานุษยวิทยาเรียกว่า งานเขียนเชิงชาติพันธุ์วรรณา แต่เอาเข้าจริง นลินนาก็เหมือนกับนักเดินทางยุคนี้ที่เพียงจดบันทึกในสิ่งที่ตนพบเห็นเท่านั้น ทว่าก่อนศาสตร์มานุษยวิทยาจะถือกำเนิดขึ้น มันก็เริ่มมาจากจุดเล็ก ๆ เหล่านี้

นักศึกษาสาวบันทึกสิ่งต่าง ๆ ลงไป ก่อนดับตะเกียง แล้วเอนนอนลงบนเตียงไม้ปูผ้าขนสัตว์หนานุ่ม ผ้าห่มขนสัตว์เริ่มมีกลิ่นอับ ๆ พรุ่งนี้คงต้องเปลี่ยนใหม่ ด้วยความเหนื่อยอ่อน หญิงสาวผล็อยหลับลงง่ายดาย หัวใจโครมคราม จำได้ว่า พรุ่งนี้จะเป็นวันสุดท้ายของเทศกาลอคิตู



วิถีชีวิตของชาวคัชดู เมืองบาบิลิม

ผู้บันทึก นลินนา เทวาสถิต

เทศกาลอคิตู เป็นงานเฉลิมฉลองแห่งฤดูใบไม้ผลิ จะเริ่มต้นก่อนฤดูเพาะปลูกในแต่ละปี จัดต่อเนื่องถึง ๑๒ วัน เริ่มต้นด้วยเหล่านักบวชแห่งวิหารอีซากีลาจะพร่ำวอนสวดมนตร์ด้วยความโศกเศร้า ย้ำเตือนต่อประชาชนถึงความไม่แน่นอนแห่งอนาคต เย็นวันที่ ๔ จะมีการเล่าขานตำนาน อีนูมา อีลิช ตำนานการสร้างโลกของบาบิลิม ซึ่งชาวบาบิลิมเชื่อว่า เทพเจ้ามาร์ดุคทรงสร้างโลกโดยการฉีกร่างของพระแม่เทียมัต เทพเจ้าฝ่ายร้ายที่พระองค์เข้าห้ำหั่นเป็นสองส่วนเกิดเป็นแผ่นฟ้าและแผ่นดิน โลหิตจากดวงเนตรทั้งสองที่ไหลทะลักก่อเกิดเป็นสองสายน้ำไทกรีส-ยูเฟรตีส พอวันที่ ๕ กษัตริย์แห่งบาบิโลเนียจะต้องเข้ารับการตัดสินของเทพเจ้ามาร์ดุค โดยมีนักบวชชั้นสูงของมหาเทพทำหน้าที่เป็นร่างทรง โดยนักบวชจะปลดเปลื้องพัสตราภรณ์ และยึดคทามงกุฎของกษัตริย์ไป ให้พระองค์ปฏิเสธว่า ไม่เคยทำผิดใด ๆ จากนั้นนักบวชจึงจะตบพระพักตร์ อวยพร แล้วคืนพัสตราภรณ์พร้อมคทามงกุฎให้ แล้วตบอีกที ต่อจากนั้นจะมีการเล่าตำนานต่อว่า มาร์ดุคเพลี่ยงพล้ำต่อเทพใต้พิภพ ต้องให้พระโอรสนาบูไปช่วย ก่อนได้รับอำนาจจากทวยเทพให้เป็นประมุขแห่งเทพเจ้าตามเดิม วันที่ ๙-๑๐ ทวยเทพกลับสู่บาบิลิม วันที่ ๑๑ เป็นวันพิพากษาชะตาบาบิโลเนีย วันสุดท้าย ทวยเทพที่มาเข้าร่วมในพิธีจะถูกอัญเชิญกลับนคร ไม่มีอะไรมาก ทำให้นักบวชบางท่านนับว่า วันที่ ๑๑ เป็นวันสุดท้ายของเทศกาล


...................................................................................................................................................


สวัสดีค่า มาถึงตอนที่ 3 แล้วนะคะ ห่างหายไปนานเพราะเพิ่งผ่านพ้นการสอบไฟนอลมาค่ะ เป็นการสอบที่สูบพลังเอามากๆ จนคาดเดาเกรดไม่ได้เลยค่ะ สุดท้ายนี้ก็ขอฝากเจ้าชายเพชกัลดาราเมช กับนลินนาไว้ในอ้อมใจของทุกท่านด้วยนะคะ อาจจะเป็นมือใหม่สำหรับวงการนิยาย เเต่จะพยายามให้เต็มที่ค่ะ ขอบคุณสำหรับทุกคอมเมนต์มากๆ เลยนะคะ เเม้จะมีเพียงคอมเมนต์เดียวก็ชื่นใจจริงๆ



เซธเวเรท
เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อ : 19 พ.ค. 2559, 12:52:46 น.
แก้ไขครั้งล่าสุด : 11 ก.ค. 2559, 13:20:47 น.

จำนวนการเข้าชม : 1054





<< มัตติกาจารึกแผ่นที่ 2   มัตติกาจารึกแผ่นที่ 4 >>
Zephyr 19 พ.ค. 2559, 14:06:44 น.
ลุ้นๆๆๆๆๆ พระเอกเราดูใจล่องลอยตามนางเอกไปละ
ส่วนตางเอกเรายังงกๆเงิ่นๆก๊งๆอยู่เลยนะ หึหึ


แว่นใส 19 พ.ค. 2559, 15:36:40 น.
เจอกัน แต่นางเอกไม่เห็น น่าเสียดายนะ


Likewizy 12 มิ.ย. 2559, 23:30:51 น.
เอาใจช่วยนางเอกคร้าบ


เข้าระบบ เพื่อแสดงความคิดเห็นด้วย weblove account