ปลูกรักริมใจ
นาถนพินนักเขียนนวนิยาย เดินทางกลับมาบ้านเกิดที่ประเทศไทยอีกครั้งหลังบิดาเสียชีวิตที่สหรัฐอเมริกา ดินแดนอันไกลโพ้นที่เธอใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัวที่นั้น...การกลับมาครั้งนี้คือการตั้งหลักถาวร ดังนั้นหญิงสาวจึงตัดสินใจ สร้างบ้านหลังใหม่ ริมทะเลสาบอันเงียบสงบ โดยมีญาติผู้พี่คอยจัดการเป็นธุระให้...
และวิศวกรโยธาชื่อ กรกฎเป็นผู้ควบคุมงานก่อสร้างทั้งหมด...วิชาชีพอันน่าทึ่งของเขานอกจากจะสร้างอาคารสูงเสียดฟ้าได้แล้ว...เขายังสร้างความหวั่นไหวให้เกิดขึ้นในหัวใจของเธอได้ด้วย

Tags: ผู้แต่งยังไม่ได้กำหนด tags ของนิยายเรื่องนี้

ตอน: ตอนที่ 3

บทที่ 3

นาถนพินชลอแรงปั่นจักรยานให้เบาลงเมื่อเลี้ยวเข้าสู่ประตูบ้านของคุณยาย บรรยากาศริมคลองสายเล็กๆยามเช้าตรู่นั้นดีไม่น้อยเลยทีเดียว อีกทั้งการได้รู้จักเพื่อนใหม่อย่างเจ้า ‘แมงกุ๊ดจี่’ ทำให้หญิงสาวรู้สึกหลงรัก บ้านสวนเข้าให้แล้ว จะมีติดขัดในอารมณ์อยู่บ้างก็ตรงอีตาวิศวกรโยธาที่สร้างบ้านให้เธอคนนี่แหละ ...ไม่น่าเชื่อว่าจะได้มาเจอกันที่บ้านคุณยายอีก ทฤษฏีโลกกลมมีจริง
นาถนพินจอดรถจักรยานข้างศาลานั่งเล่นใกล้กับห้องครัว เห็นมารดากำลังมองออกมาจากหน้าต่างกระจก
“หนูแดงออกไปปั่นจักรยานถึงไหนมาเนี่ยลูก แม่คิดว่าออกไปทำบุญกับคุณยายที่วัดเสียอีก ” คุณทวีพรเอ่ยทักบุตรสาว เมื่อนาถนพินเปิดประตูห้องครัวเข้าไป
“ไปถึงเรือนไทยโบราณทางโน้นค่ะคุณแม่...เป็นบ้านของใครหรือคะ”
เมื่อเอ่ยถามความสงสัยจึงวิ่งจู๊ดเข้ามา เมื่อนึกขึ้นได้ว่า ‘คนตัวโต’ ก็โผล่ออกมาจากบ้านหลังนั้น
“หลังใหญ่ๆนั้นหรือลูก” มารดาถามย้ำ ด้วยระยะเวลาที่ห่างเหินจากบ้านเกิดไปหลายปี เพื่อนบ้านใกล้เรือนเคียงอาจจะแปรเปลี่ยนกันไปบ้าง
“ค่ะ...เห็นมีอยู่หลังเดียว หน้าบ้านมีแปลงต้นผักชีแถวยาว...” หญิงสาวบรรยายให้มารดาฟังละเอียดยิบทุกซอกทุกมุม ที่พบเห็น
“บ้านของตาด้วง...คู่รักเก่าของคุณยายเขาล่ะ” มารดาบอกด้วยน้ำเสียงกลั้วหัวเราะ
“จริงหรือคะคุณแม่ ต๊ายหนูแดงไม่อยากจะเชื่อเลยว่าคุณยายจะมีตำนานรักกับเขาเหมือนกัน...อย่างนี้หนูแดงต้องสัมภาษณ์เก็บข้อมูลมาเขียนเป็นนิยายเรื่องใหม่แล้วล่ะค่ะ”
นาถนพินบอกอย่างตื่นเต้น เรื่องราวความรักของคุณยายต้องโรแมนติกแน่ๆแม้ตอนท้ายจะไม่ได้ลงเอยด้วยการแต่งงานก็เถอะ
“แล้วตาด้วงนี่...เขาทำอาชีพอะไรเหรอคะ” นักเขียนสาวเริ่มเก็บข้อมูลเบื้องต้น จากคนใกล้ตัว
“ตอนที่แม่ยังเด็กๆนะ จำได้ว่าบ้านโน้นเขาจะทำวงปี่พาทย์กันทั้งครอบครัวแหละ เล่นดนตรีไทยได้เก่งกันทุกคน ไม่ว่าจะเป็นซออู้ ซอด้วง ระนาดเอก”
ดนตรีไทยแม้จะเป็นสิ่งที่ไกลตัวพอสมควรสำหรับบุคคลที่เติบโตในต่างแดน หากมารดาก็มักจะหาแผ่นซีดีมาเปิดให้ฟังอยู่สม่ำเสมอ ด้วยเหตุผล ‘ฟังแล้วทำให้แม่หายคิดถึงบ้าน’
“ถ้าอย่างงั้น ...ตาด้วงแกคงจะตีระนาดจีบคุณยายมั้งคะคุณแม่” นาถนพินสันนิษฐานพลางหัวเราะคิก
“คงจะอย่างงั้นมั้ง คนสมัยก่อนไม่มีโอกาสพบเจอกันง่ายๆเหมือนคนสมัยนี้หรอกลูก ถ้าไม่มีงานวัด งานบุญ ก็อยู่บ้านใครบ้านมัน” มารดาเล่าพลางหยิบทัพพีคนข้าวในหม้อใบเล็กที่กำลังเดือดปุดๆ
“นั้นคุณแม่จะทำข้าวต้มกุ้งหรือคะ?” หญิงสาวมองชามกระเบื้องที่มีกุ้งขนาดกำลังดี นอนรอให้ปอกเปลือกอยู่
“จ๊ะ อาหารเช้าทำง่ายๆแล้วกัน”
นาถนพินจึงหยิบชามใส่กุ้งมาช่วยปอกเปลือกให้ ปากก็ยังชวนมารดาคุยถึงเรื่องโน้นเรื่องนี้ไปเรื่อยเปื่อย โดยเฉพาะวิถีชนบทของบ้านคุณยายที่หญิงสาวชอบใจอยู่หลายอย่าง การมาบ้านคุณยายในช่วงวันหยุดสงกรานต์จึงรู้สึกว่าคุ้มค่าเหลือเกินสำหรับเธอ


“พี่หนูแดงจ๋า อยู่หรือเปล่าจ๊ะ”
เสียงใสของเจ้าแมงกุ๊ดจี่ตะโกนดังแว่วจากประตูรั้วบ้านพร้อมกับร่างเล็กบางที่วิ่งหน้าตั้งเข้ามา ทำให้นาถนพินละสายตาจากหนังสือที่กำลังอ่านอยู่ชโงกหน้ามอง
“พี่อยู่ที่ศาลาค่ะ” หญิงสาวร้องบอก เจ้าวายร้ายจึงยิ้มแต้วิ่งเข้ามาหามันสวมเสื้อลายดอกชมพูพร้อยไปทั้งตัว ทำให้หญิงสาวถึงกับเอ่ยปากชม
“ใส่เสื้อสวยเชียวนะจะไปเที่ยวไหนจ๊ะ”
“หนูจะมาชวนพี่หนูแดงไปขนทรายเข้าวัดจ้า...ไปด้วยกันนะ”
ประเพณีวันสงกานต์อันงดงามของไทย ที่เธอเรียนรู้จากวัดไทยในต่างแดนอาจจะมีรายละเอียดปลีกย่อย ที่แตกต่างจากเมืองไทยอยู่บ้าง ด้วยข้อจำกัดหลายอย่างทั้งภูมิอากาศและสภาพแวดล้อม เมื่อโอกาสที่จะได้สัมผัสกับบรรยากาศอันแท้จริงเคลื่อนเข้ามาเธอจึงรับปากทันทีโดยไม่ไต่ถามอะไรกับเจ้าแมงกุดจี่อีกเลย ปล่อยให้มันเดินจูงแขน ออกไปนอกรั้วบ้าน ที่มีรถยนต์สีน้ำเงินเข้มจอดรออยู่
“รถใครหรือแมง?” หญิงสาวกระซิบถามด้วยมองผ่านกระจกเห็นคนขับไม่ชัดเจนนัก
“รถพี่ปูจ้า พี่หนูแดงขึ้นไปเลยนะไม่ต้องเกรงใจ”
มันรีบเปิดประตูให้หญิงสาวอย่างคล่องแคล่ว พลางรุนหลังอีกฝ่ายให้ก้าวเข้าไป ‘คนอยู่ในภาวะจำยอม’ จึงมีสีหน้าตื่นเล็กน้อยเมื่อเข้ามานั่งในรถ
“ไปขนทรายแล้วคุณไม่เอากระป๋องอะไรไปเลยหรือ?”
คนถูกถามหันไปมองคนขับเต็มตา เสื้อลายดอกชบาสีชมพูพร้อยไม่ต่างจาก เจ้าตัวแสบด้านหลัง...อ๋อ มีต่างกันเพียงนิดก็ตรงแก้มที่ปะแป้งขาวเป็นรูปนิ้วมือ นาถนพินรีบเบือนหน้ามองนอกหน้าต่างเพื่อซ่อนรอยยิ้มขำ
“หนูเอามาเผื่อพี่หนูแดงแล้วล่ะพี่ปู”เจ้าแมงกุ๊ดจี่บอกเสียงแจ๋วมาจากเบาะด้านหลัง
“แล้วของข้าล่ะเอามาด้วยหรือเปล่า”ชายหนุ่มถามพลางออกรถ
“เอามาจ้าใบใหญ่กว่าใครเพื่อน!” มันไม่บอกเปล่าหากยื่นส่งมาให้ดูเป็นขวัญตา
“เฮ้ย! เกือบทิ่มหน้าข้าให้” กรกฎโวยวาย ทำให้คนที่นั่งสงบมาตลอดทางต้องปล่อยหัวเราะคิก ด้วยสองพระหน่อดูจะไม่มีใครยอมใคร
“คุณขำไปเถอะ...ถ้าได้อยู่กับมันทั้งวันแล้วคุณจะขำไม่ออก มันแสบจะตายไอ้นี่กวนประสาทเป็นที่หนึ่ง”
นาถนพินไม่รู้สึกแปลกใจเลยว่า อาการกวนประสาทของเด็กกับผู้ใหญ่จะต่างกันตรงไหน ก็ในเมื่อ ‘เขา’ และ’ เจ้าแมงกุ๊ดจี่’คงจะมีสปีซีส์ เดียวกัน ‘สปีซีส์ตัวป่วน’
วัดที่ชายหนุ่มกับเจ้าจอมวายร้ายแมงกุดจี่ พาไปนั้น ดูไม่ไกลจากบ้านคุณยายเท่าไร บริเวณโดยรอบคงความเป็นชนบทอย่างแท้จริง เนื้อที่ภายในกว้างขวางร่มรื่นด้วยต้นไม้ใหญ่ ต้นศรีมหาโพธิ์ที่ปลูกเว้นระยะห่างอย่างลงตัวขนานไปกับแนวรั้วสีขาว ใกล้กับตัวโบสถ์เป็นลานดินกว้างซึ่งเป็นที่ตั้งของกองทราย ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ต่างช่วยกันขนทรายลำเลียงเข้ามา โดยไม่เกี่ยงงอนถึงระยะทางร่วมลี้จากริมฝั่งแม่น้ำฟากโน้น ศรัทธาของมนุษย์เรานั้นมีอิทธิพลเหนือสิ่งอื่นใดเสมอ นาถนพินมองภาพเหล่านั้นด้วยดวงใจอันแช่มชื่น...ภาพและตัวอักษรที่เคยผ่านตาถึงบรรยากาศวันสงกานต์ของไทย ครั้งเมื่อเคยใช้ชีวิตอยู่อีกซีกโลกหนึ่ง..ความรู้สึกช่างแตกต่างกันเหลือหลาย ...อย่างน้อยเหตุการณ์ในวันนี้จะถูกนำไปไว้ในซีนหนึ่งของนวนิยายที่กำลังเขียนอยู่
“ถึงกับตะลึงงงงันเลยหรือระวังแมลงวันจะบินเข้าปากนะคุณ...หุบๆบ้าง” เสียงทุ้มที่เริ่มจะคุ้นชินดังอยู่ใกล้ตัว
“ฉันเพิ่งเคยเห็นของจริงค่ะ...ที่ผ่านมาเคยเห็นแต่รูปหรือไม่ก็ดีวีดี” หญิงสาวบอกเสียงเบา ดวงตายังฉายแววตื่นเต้น
“เห็นแล้วเป็นไง?”
“รู้สึกดี... แล้วก็ชอบอย่างบอกไม่ถูกค่ะ” หญิงสาวชื่นชม
กรกฎมองเสี้ยวหน้าด้านข้างของอีกฝ่าย ดวงตาเข้มดูอ่อนวาบอย่างประหลาด
“คนที่นี่เขายังถือขนบธรรมเนียมเก่าอยู่ บางหมู่บ้านถูกสังคมสมัยใหม่เข้ามาแทรกจนเลือนหายไปก็มี ถ้าคุณกลับมาเมืองไทยช้ากว่านี้ซะสิบปี อาจจะไม่มีโอกาสได้เห็นพระเจดีย์ทรายก็ได้”
นาถนพินมองอีกฝ่ายเต็มตา เวลาเจรจาเป็นเรื่องเรื่องราวก็ดูน่าเชื่อถือดีเหมือนกันนะ และเหมือนจะรู้ ‘คนถูกเพ่งพิศ’ จึงหันมามองคิ้วเข้มเลิกขึ้นสูงเล็กน้อยด้วยอาการแปลกใจ
“…ฉันจะเอาไปเขียนเป็นฉากในนิยายค่ะ” คนบอกรีบกลบเกลื่อนดวงหน้านั้นจึงมีรอยเขิน
“คุณเป็นนักเขียนหรือ?”
“ค่ะ...เขียนนิยายรักโรแมนติก” ปลายประโยคน้ำเสียงเจือหัวเราะ..ใสกังวาน
“ไปยังล่ะพี่ปู!”
เจ้าตัวแสบซึ่งยืนอยู่ข้างหลังสะกิดยิกๆ เหมือนมันจะกลัวว่าถ้าไม่รีบเบรคลูกพี่...ถ้าจะยาวเสียล่ะมัง
“เออ...จะไปแล้วล่ะเอากระป๋องมาแจกด้วย ...ทีอย่างงี้ล่ะรีบเชียวนะ” ชายหนุ่มบอกน้ำเสียงอุบอิบ หากเจ้าจอมวายร้ายกลับไม่ยอมโต้คารมกับลูกพี่เช่นเคย แต่มันโปรยยิ้มหวานหยดพลางแจงอุปกรณ์ขนทรายให้ชายหนุ่มกับนาถนพิน ถือโอกาสนั้นจับข้อมือหญิงสาวเดินเกี่ยวก้อยลงไปท่าน้ำด้วยดวงหน้าอันชื่นบาน


อาหารเย็นถูกจัดเตรียมไว้บนหอกลางของเรือนไทยโบราณโดยแม่ครัวหนึ่งเดียวของบ้าน ป้าสีนวลจัดสำรับไว้ให้เมื่อสมาชิกในบ้านมากันครบแล้ว กับข้าวพื้นบ้านที่แสนเรียบง่ายน้ำพริกปลาทูเครื่องเคียงเป็นดอกโสนผัดกับน้ำมัน และผักสดหลากชนิด ตามด้วยไข่เจียวหมูสับและแกงร้อน
“ไปไหนกันมาล่ะเนี่ยกลับมาหิวซกทั้งลูกพี่ลูกน้อง” ปู่เอ่ยถามเมื่อเห็นสองหนุ่มไม่พูดไม่จา ตั้งหน้าตั้งตาเสวยอย่างเดียว
“ไปก่อพระเจดีย์ทรายมาปู่” กรกฎเป็นฝ่ายตอบคำถามพลางรินน้ำจากขวดใส่แก้ว น้ำพริกของป้าสีนวลนั้น รสชาติกลมกล่อมดีแท้ หากรสเผ็ดก็ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันเลยมื้อนี้เลยต้องข้าวคำน้ำคำ เพื่อบรรเทาอาการไฟไหม้ปาก
“เผ็ดหรือไงวะเจ้าปู”บิดาถามขึ้นมามั่ง เมื่อเห็นอาการหน้าแดงปากเจ่อของลูกชาย
“เผ็ดซิพ่อ ป้าสีนวลเล่นพริกขี้หนูสวนมาเลยทั้งถ้วย” คนตอบเลยต้องเปลี่ยนเมนูหันมาทางจานไข่เจียวมั้ง
“เล่นละเลงลงไปเสียแดงแปร๊ดจะไม่เผ็ดได้ไงวุ้ย”
“ก็มันอร่อย” ชายหนุ่มยอมรับ ยกแก้วน้ำเย็นขึ้นดื่มรวดเดียวเกือบหมดเป็นการตบท้าย
“พี่ปูกินไปร้องไห้แต่หนูซิกินสบายไม่มีน้ำตาซักเอะ”
“เอ่อ...ก็คนมันเข้มนี่หว่าก็ต้องกินแบบนี้แหละ ลงไปหาขนมกินดีกว่าเห็นมีเม็ดขนุนอยู่ในตู้เย็น”
สุดท้าย ‘คนเข้ม’ จึงทนไม่ไหวต้องลงไปยังห้องครัวด้านล่าง อาศัยความหวานของขนมช่วยบรรเทาอาการเผ็ดร้อนในช่องปากได้ชงักงั้นดีนัก เมื่อเดินกลับขึ้นมาบนเรือนอีกครั้งสำรับอาหารเย็นถูกเก็บไปเรียบร้อยแล้ว ปู่กำลังตั้งท่าจะตีระนาด
“อ้าว!พ่อกับไอ้แมงไปไหนกันแล้วล่ะปู่”
“กินเสร็จก็พักผ่อนตามอัธยาศัยซิวะ”
“โห...เดี๋ยวนี้ศัพท์แสงหะรูหะราเชียวนะปู่”
หลานชายหยอกเย้าพลางทรุดกายลงนั่งใกล้เอาหลังพิงเสาบ้าน เสียงไล่ลูกระนาดรัวริ้วด้วยฝีมือคนเล่นนั้น.. ชั้นครู
“ปู่จะเล่นเพลงอะไร?”
“ลาวดวงเดือน”
ท่วงทำนองเพลงไทยเดิมหวานละห้อย ถ้อยคำร้องดูโหยหาอาลัยสิ่งอันเป็นที่รักนักหนา..แม้จะเคยฟังปู่เล่นดนตรีไทยมาแต่น้อยคุ้มใหญ่ แต่ชายหนุ่มกลับไม่เคยนึกเบื่อหรือมองว่าล้าสมัย ทุกครั้งยามกลับมาเยี่ยมบ้านเขาเองยังเคยขอให้ปู่เล่นให้ฟังอยู่บ่อยครั้ง
“เอ็งมันใกล้เกลือกินด่างนะเจ้าปู ไม่ยอมหัดเล่นดนตรีไทย” ปู่มักเคยปรารภกับเขาหลายครั้งเรื่องการสืบทอดมะริดกดนตรีไทย
“ไม่ไหวหรอกปู่ชอบฟังแต่ไม่ชอบเล่น ใจไม่เย็นพอที่จะหัด กว่าจะตะเลงเต่งตุ้มได้ผมคงอกแตกตายเสียก่อนที่จะตีเป็นเพลงกับเขา”
นั้นเป็นเหตุผลที่ชายหนุ่มมักมีให้กับผู้สูงวัยตลอดมา
“แล้วทำไมปู่ชอบเล่นเพลงนี้จัง... เล่นบ่อยไปแล้วนะเนี่ย” หลานชายเริ่มติง
“เฮ้ย!เพลงนี้มันมีความหมาย” ผู้สูงวัยตอบก่อนจะหยุดตี
“อย่าบอกนะ... ว่าเคยเอาไว้เล่นจีบสาว”กรกฎดักคอท่านผู้เฒ่า
“เอ่อซิวะ!”
“นั้นว่าแล้ว!” ชายหนุ่มตบหัวเข่าตัวเองดังฉาดใหญ่ “สาวคนนั้นคงไม่ใช่ย่าแน่” หลานชายคาดเดา
“ไม่ใช่หรอก...”
“แล้วใครหรือปู่?”
คนเอ่ยถามขยับเข้าใกล้เหมือนกลัวใครจะได้ยิน ก็ปู่ที่ครองพุ่มม่ายมาสิบกว่าปียังไม่เคยปริปากถึงความหลงความหลัง ให้ใครได้สดับรับฟังเลยสักกะนิด
“เอ็งจะรู้ไปทำไมว่ะเจ้าปู”ผู้อาวุโสย้อนถาม
“เอ้า! ของอย่างนี้มันไม่ใช่เรื่องเสียหายไม่ใช่หรือปู่ ...เอาน่า...รู้แล้วไม่เอามาแซวหรอก” หลานชายรับรอง พลางยิ้มแต้ร้องฟังคำเฉลย
“ยายนวลจันทร์...”ปู่ยอมเปิดเผยชื่อคนรักเมื่อวัยหนุ่ม
“นี่ปู่เล่นจีบคุณนายนวลจันทร์เลยหรือนี่..ชะช้า..ไม่เบาแฮะปู่เรา” หลานชายเย้าพลางหวลนึกถึงญาติผู้น้องของเพื่อนรุ่นพี่ เธอคนนั้นเป็น ‘หลานของคุณนายนวลจันทร์’
“เมื่อก่อนเขางามกว่าใครทั้งตำบล..ไอ้เราก็ชอบมองคนแจ่มๆ ไปเล่นมโหรีตอนงานวัดพอเห็นเขามา ก็เล่นเพลงลาวดวงเดือนให้เขาฟังเลยเชียวล่ะ แม่นวลจันทร์ก็รู้นะเขาก็ชอบมาฟังออกบ่อย”
หลานชายตัวดีนั่งขัดสมาธเอามือเท้าคาง ฟังปู่เล่าความรักสมัยวัยสะรุ่นตอนปลายให้ฟัง อย่างตั้งอกตั้งใจ
“โอ๊ย!เมื่อตะก่อนโน้นไม่ได้เจอกันง่ายๆเหมือนสมัยหรอกเจ้าปูเอย.. ต้องรองานวัด งานบุญโน้นเน่ะ กฐิน ผ้าป่าแต่ละทีคนหนุ่มคนสาว ถึงได้มาเห็นหน้าเห็นตากัน..”
“สรุปแล้วได้เป็นแฟนกันไม๊ล่ะปู่”
คนฟังชักเริ่มใจร้อน เพราะปู่เองก็ชักจะออกนอกประเด็นไปไกล
“ก็ให้แม่สื่อเขาไปติดต่ออยู่ แล้วข้าก็ต้องไปบวชพอดี..แหม.ข้าบวชยังไม่ครบพรรษาเลย แม่นวลจันทร์ก็แต่งงานกับเศรษฐีกรุงเทพฯไปเสียนี่”
“อ้าว!อย่างงี้ปู่ก็อกหักนะซิ”
“เอ่อ..ข้าก็เลยบวชต่ออีกหนึ่งพรรษาเสียเลย ตั้งใจว่าชาตินี้จะไม่สกไม่สึกกันแล้ว ตอนนั้นพ่อแม่ต้องมาขอร้องกันยกใหญ่ กลัวลูกชายจะบวชไม่สึก”
“แล้วปู่มาเจอย่าได้ยังไง” หลานชายยิงคำถามต่อไป
“ก็พ่อแม่เขาจัดการหาให้แหละ เขากลัวเราจะเสียผู้เสียคน”
คนนั่งฟัง ‘อดีตรัก’ ของปู่ยังคงยิ้มน้อยยิ้มใหญ่ด้วยดวงหน้าขาวนวล ของคนที่ตื่นเต้นกับประเพณีการขนทรายเข้าวัดเมื่อช่วงบ่ายเคลื่อนคล้อยเข้ามา พร้อมกับท่วงทำนองเพลงไทยเดิมที่ผู้อาวุโสของบ้านเริ่มบรรเลงขึ้นอีกครั้ง..
‘โอ้ละหนอ ดวงเดือนเอย พี่มาเว้ารักเจ้าสาวคำดวง
โอ้ว่าดึกแล้วหนอ พี่ขอลาล่วง อกพี่เป็นห่วง รักเจ้าดวงเดือนเอย’



เจ้าจันทร์
เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อ : 20 ก.พ. 2556, 16:07:38 น.
แก้ไขครั้งล่าสุด : 20 ก.พ. 2556, 16:08:21 น.

จำนวนการเข้าชม : 1085





<<    
เข้าระบบ เพื่อแสดงความคิดเห็นด้วย weblove account