ลิขิตนครา มนตราบาบิโลน

ในหน้าประวัติศาสตร์อันรุ่งโรจน์เเละโกลาหลแห่งอารยธรรมเมโสโปเตเมีย หรือตะวันออกใกล้โบราณ ณ อาณาจักรบาบิโลเนียผุดนามชนชาติหนึ่งที่ปกครองอาณาจักร พวกเขาเรียกตัวเองว่า ชาวคัชดู ขณะชาวกรีกเรียกพวกเขาว่า ชาวคาลเดียน


อาณาจักรของพวกเขายืนยงเพียง 75 ปี แต่กลับสรรค์สร้างสิ่งต่างๆ ให้โลกมากมาย


พวกเขาคือผู้สร้างสวนลอยบาบิโลน พวกเขาคือผู้บุกเบิกดาราศาสตร์ โหราศาสตร์ เเละคณิตศาสตร์ ผลงานของพวกเขาคือต้นเค้าความรุ่งเรืองแห่งอารยธรรมกรีกเเละโรมัน


ทว่าจะเป็นเช่นไร เมื่อนักบวชแห่งมหาเทพมาร์ดุคล่วงรู้ถึงชะตากรรมการล่มสลายเเห่งอาณาจักร


ทางเเก้วิธีเดียวคือ การอ้อนวอนร้องขอต่อทวยเทพประจำนครา



เเละทวยเทพก็มิได้พระทัยร้ายเกินรับฟัง ด้วยเหตุนี้บุรุษและสตรีคู่หนึ่งจึงถูกสรรค์เสกเพื่อสนองต่อคำขอนั้น



หนึ่งบุรุษ...เพชกัลดาราเมช เจ้าชายรัชทายาทแห่งอาณาจักรบาบิโลเนีย



หนึ่งสตรี...นลินนา เทวาสถิต นักศึกษามานุษยวิทยาสาวผู้ถูกส่งข้ามห้วงกาลเวลา



และนี่คือประวัติศาสตร์บทใหม่ที่ถูกถักทอ เรื่องราวของอาณาจักรโบราณอันได้ชื่อว่า เป็นมหานคราที่ใหญ่ที่สุดในโลกยุคโบราณ เเละเกือบได้เป็นเมืองหลวงแห่งจักรวรรดิกรีกของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช


ประวัติศาสตร์หน้าใหม่ถูกเขียนขึ้นแล้ว!
Tags: โรเเมนติก ดราม่า ย้อนเวลา ประวัติศาสตร์

ตอน: อารัมภบท

ปฐมบทแห่งประวัติศาสตร์

ทางทิศตะวันออกถัดไป ๖๐๐ กิโลเมตรจากทะเลเมดิเตอร์เรเนียนคือ ที่ตั้งของมหาอาณาจักรอันยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกยุคโบราณ ดินแดนอันเป็นที่กล่าวขวัญถึง เป็นศูนย์กลางทางการค้าในหน้าประวัติศาสตร์ เป็นที่ตั้งของสถาปัตยกรรมอันถูกจัดเป็นหนึ่งในเจ็ดสิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคโบราณ ดินแดนแห่งประมวลกฎหมายศักดิ์สิทธิ์ ดินแดนอันเป็นต้นกำเนิดแห่งสหวิทยาการที่พัฒนาสืบเนื่องมาจวบปัจจุบัน ดินแดนแห่งนั้นถูกชาวเมืองเรียกขานว่า ทวาราแห่งทวยเทพ หรือที่ชาวกรีกเรียกว่า บาบิโลน!



ราว ๕๐๐ ปีก่อนคริสตกาล อาณาจักรบาบิโลเนีย ภายใต้การปกครองของชาวคาลเดียน

ณ ดาดฟ้าของศาสนสถาน...ซิกกูแรตแห่งมหาเทพมาร์ดุค สายลมพัดเอื่อยเฉื่อยทิ้งมหานครที่ใหญ่ที่สุดแห่งยุคให้ตกอยู่ในความสงบสงัด นักบวชแห่งมหาเทพแหงนเงยมองนภาอันพรายพร่างไปด้วยดารากร นับแต่อดีตจวบปัจจุบันกาล ชาวคาลเดียนถูกยกย่องในฐานะนักดาราศาสตร์แลโหราศาสตร์ที่เก่งฉกาจที่สุด นักบวชหนุ่มในอาภรณ์ผ้านุ่งขนแกะขาวสะอ้าน มือข้างหนึ่งถือมัตติกาจารึกหรือแผ่นดินเหนียว ส่วนอีกข้างจับปากกากกปลายเเหลมไว้กระชับ เตรียมจรดจดว่า ราตรีนี้วิถีโคจรแห่งดวงดาราจักเป็นเช่นไร

ทว่าพลันวิถีโคจรแห่งดวงดาราเเล่นเข้าสู่จักษุประสาทกระซิบรหัสเเก่ผู้ถอดออก ร่างของนักบวชหนุ่มก็พลันเย็นเฉียบ ขนลุกเเต่ศีรษะจรดปลายบาท เหงื่อกาฬเย็นยะเยียบไหลพลั่ก กายสั่นประหนึ่งโดนปิศาจสิงสู่ ผงะเซ อุทานในใจ

โอ มหาเทพ...เหตุใดจึงเป็นเช่นนี้?

นักบวชหนุ่มผลุนผลันลนลานไปแจ้งหัวหน้านักบวชทันควัน ยังผลให้ร่างในอาภรณ์ขาวสะอ้านมิต่างกันเร่งรุดเข้าเฝ้าเทพอุปถัมภ์ประจำนคร

ณ เบื้องหน้าเทวรูปทองคำประทับตระหง่านบนบัลลังก์ทอง เปลวประทีปไหวระริกสะท้อนความเคร่งขรึมเเห่งพระพักตร์ นักบวชชราทรุดฮวบ คร่ำครวญอ้อนวอนต่อมหาเทพ ปรกติ...นักบวชมิจำเป็นต้องคุกเข่า เพียงยืนตรง ประสานมือไว้ด้านหน้าก็เพียงพอ ทว่าครานี้เเผกออกไป ด้วยรหัสอันได้รับเเจ้งคือ...

อาณาจักรบาบิโลเนียภายใต้การปกครองของชาวคาลเดียนจักยืนยงไม่ถึงหนึ่งร้อยปี

เป็นไปได้เช่นไร! นครอันรุ่งเรืองยิ่ง กินพื้นที่จรดชายฝั่งคุมเส้นทางการค้าจักล่มสลาย นักบวชแห่งมาร์ดุคพร่ำอ้อนวอนเนิ่นนาน

ในที่สุด มหาเทพก็ทรงสดับฟัง ทวยเทพเข้าประชุมปรึกษา กระทั่งอีเอ...เทพแห่งปัญญาผู้ขี้เซายังฟื้นตื่นจากห้วงนิทรา

และเเล้วถ้อยอธิษฐานก็สัมฤทธิ์ผล มหาเทพประทานพร

ด้วยคำแนะนำจากเทพผู้ทรงปัญญา หัตถ์แห่งมหาเทพมาร์ดุคเเลมหาเทพีอิชทาร์หลั่งโลหิตหลอมรวมกับกองดิน เพื่อสรรค์สร้างบุรุษสตรีรูปงามเฉกเดียวกับคราที่พระองค์ทรงสร้างมวลมนุษยชาติจากกองดินเเลโลหิตของปิศาจคิงกู

กองดินถูกปั้นเป็นรูปบุรุษสตรี วาตเทพเอนลิลประทานลมหายใจ

บุรุษรูปงามถูกส่งไปยังครรภ์แห่งพระราชินี ทว่าสำหรับสตรี...เทพแห่งปัญญากลับตรัสสั่งว่า

“จงส่งนางไปยังอนาคตกาล!”

มหาเทพีอิชทาร์ เทพีแห่งสิเน่หา กามามณ์ เเละสงครามฉงนพระทัย ตรัสถาม “เหตุใดจึงทำเช่นนั้น พระบิดา?”

เมื่อพระธิดาสงสัย พระบิดาจึงตรัสตอบ

“จักมีค่าเช่นไร หากนางต้องเกิดในคุมขังแห่งขนบธรรมเนียม แลการควบคุมของสังคม จงส่งนางไปยังกาลที่การศึกษาแลวิทยาการจักกระจายถึงทั่วทุกชั้นชน ยุคที่นางจักได้เห็นทั้งความรุ่งโรจน์แลความล่มสลายแห่งอารยธรรม เมื่อนางเข้าใจถึงแก่นแท้แห่งสัจธรรม เมื่อนั้นข้าจักพานางกลับมา”

ด้วยเหตุนี้สตรีผู้ถือกำเนิดจากดินแลโลหิตแห่งมหาเทพีจึงถูกส่งไปยังอนาคตกาล และเมื่อถึงกาล...นางจักต้องหวนคืน!



พุทธศตวรรษที่ ๒๖ กรุงเทพมหานครฯ ,ราชอาณาจักรไทย

กลิ่นอายเก่า ๆ บริเวณสนามหลวง ทำให้ ‘นลินนา เทวาสถิต’ อดสูดอากาศเข้าเต็มปอดด้วยความคิดถึงบ้านเกิดเมืองนอนไม่ได้ เเสงตะวันวันนี้ไม่ได้เเรงเริงนักเมื่อเทียบกับวันอื่น ๆ ที่ร้อนจัดจนนักท่องเที่ยวผิวขาวหลากเชื้อชาติผิวกายเเดงก่ำ ตลอดบาทวิถีปูกระเบื้องสีเขียว เเผงขายของเเบบเเบกะดินเเละเเผงขายพระอันตรธานหายไป กระนั้นก็ยังมีบางส่วนลักลอบปูแผง โดยมีเทศกิจในละเเวกเข้าไปร่วมด้วยอย่างชวนเวทนา

นลินนาข้ามถนนตรงสู่มหาวิทยาลัยเก่าที่ตนเคยศึกษา นึกถึงต้นกร่างร่มรื่นหน้าตึกคณะ สวนแก้วอันรายล้อมด้วยสุมทุมพุ่มไม้เเละประติมากรรมเงาวามอ่อนช้อย สุ้มเสียงขับขานเพลง ซานต้า ลูซีอา ยังคงก้องกังวานในความทรงจำ ใช่แล้ว...มหาวิทยาลัยเก่าของนลินนาคือ มหาวิทยาศิลปากร วังท่าพระนั่นเอง

หญิงสาวในชุดเสื้อแขนยาวสีขาวตัวหลวมเข้าคู่กับกางเกงผ้าสีดำรัดรูป มีกำไลเงินนับสิบวงประดับข้อมือกลมกลึง และสวมรองเท้าผ้าใบคล่องตัวกรายผ่านประตูรั้วเขียวเข้าไป เเละระหว่างกำลังสอดส่ายสายตาหาใครบางคน เสียงเรียกใสเเจ้วก็เเว่วขึ้นมา

“ยายลิน!” เสียงนั้นดังพอจนเจ้าของนามต้องหันไปมอง พร้อมยิ้มร่าทันควัน

“ยายเกว! ยายนา!”

หญิงสาวในชุดสบาย ๆ หากกระฉับกระเฉงขานกลับ สายตาพลันเห็นสองสหายในชุดนักศึกษากระโปรงพลีทยาวเกือบกรอมเท้ากำลังโบกมืออยู่ไหว ๆ

หญิงสาวเดินเเกมวิ่งเข้าไปหาทันควัน โอบกอดเพื่อนสนิททั้งสองเต็มเเรง

“คิดถึงพวกแกจังเลย”

เกวลินกับลลนาพูดพลางกอดตอบเเนบเเน่น “พวกเราก็เหมือนกัน”

ทั้งสองรัดเเน่นขึ้น ด้วยไม่ได้พบกับร่างในอ้อมเเขนมานานเกือบปี เพราะเจ้าตัวย้ายไปเรียนต่อในต่างประเทศ ก่อนจะตระหนักว่า พวกตนอยู่ในสภาพนี้นานแล้ว จึงผละออก ไถ่ถามสารทุกข์สุขดิบ

“ว่าแต่แกไปเรียนที่โน่นเป็นไงบ้าง?”

“สบายดีดิ เอาของมาฝากพวกแกด้วย” หญิงสาวพูดพลางชูถุงของฝาก ภายในอัดเเน่นไปด้วยชาอังกฤษหลากชนิด รวมทั้งของที่ระลึกที่ผ่านการคัดเลือกอย่างพิถีพิถัน ด้วยทราบว่า สหายรักไม่ชื่นชอบของที่ระลึกดาษดื่นเท่าใด

“เฮ้ย ยายลินดีมากเลย!” ลลนา สาวไทยเชื้อสายจีนผู้ชื่นชอบชาเป็นชีวิตจิตใจโผเข้าหา ก่อนเพื่อนรักทั้งสองจะคว้าถุงของฝากไป แล้วเลือกกันไปคนละอย่างสองอย่าง

ครั้นเชยชมของฝากจนฉ่ำใจ เกวลินกับลลนาก็พาเพื่อนรักไปกินอาหารร้านประจำแถวท่าพระจันทร์ทันที โดยร้านนั้นก็คือ ร้านรุ่งเกษม ร้านในตำนานอันลือชื่อเรื่องต้มยำกุ้ง

พลันก้าวเข้าสู่ตัวร้านมอซอก็สั่งข้าวสวยสามจานพร้อมต้มยำกุ้งเล็กหนึ่งชามตามสั่งประจำ รอลิ้มรสต้มยำกุ้งเข้มข้นหอมกรุ่นเป็นเอกลักษณ์ เนื่องจากปรุงด้วยน้ำซุปกระดูกหมูเข้มข้น เเละผ่านการให้ความร้อนด้วยเตาถ่าน ระหว่างคอยอาหารมา เกวลินก็เปิดฉากถามเพื่อนสาวลูกครึ่งไทยเปอร์เซียทันที

“ว่าแต่แกไปอยู่ที่โน่นเป็นยังไงบ้างวะ? เล่าให้ฟังหน่อยดิ” เมื่อเกวลิน หญิงสาวเจ้าของตาโต จมูกโด่งเป็นเอกลักษณ์เอ่ยถาม ดวงหน้าขาวนวลเเป้นเเล้นของลลนาก็ชะโงกเข้าร่วมวงรวดเร็ว

“ก็สบายดีแหละ เเค่เหงานิดหน่อย โชคดีฉันมีเพื่อนที่ไปนั่งเรียนอัสซีเรียวิทยาด้วยน่ะ เขาเลยช่วยอะไรฉันไว้หลายอย่างเลย ส่วนเรื่องเรียนเเค่ต้องปรับภาษานิดหน่อยเท่านั้นเเหละ เนื้อหาก็คล้าย ๆ กับเรียนที่นี่ เลยเข้าใจไม่ยาก”

นลินนา สาวลูกครึ่งไทยเปอร์เซียตอบละเอียดยิบ แต่เดิมหญิงสาวเคยศึกษาอยู่คณะโบราณคดี เอกมานุษยวิทยา ก่อนย้ายไปศึกษายังมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในสหราชอาณาจักรในสาขาเดียวกัน ทั้งจากการตัดสินใจของตนเเละความเห็นของผู้เป็นมารดา นอกจากนี้ที่มหาวิทยาลัยแห่งนั้นยังเปิดสอนวิชาอัสซีเรียวิทยา วิชาอันว่าด้วยการศึกษาโบราณคดี ประวัติศาสตร์ เเละภาษาศาสตร์ในเมโสโปเตเมียโบราณที่นลินนาสนใจ นักศึกษาสาวชาวเอเชียจึงพยายามจัดตารางเรียนให้ว่างตรงกับวิชานั้น ส่วนการปรับตัวเรื่องเรียนก็ไม่ได้ยากหากพยายาม

“ก็ดีแล้วแหละ ทีแรกฉันก็กลัวว่า แกจะไม่มีเพื่อน” เกวลินกล่าวอย่างโล่งใจ จำประสบการณ์พานพบครั้งแรกได้ว่า หญิงสาวเจ้าของเชื้อสายลึกลับตรงหน้าดูหยิ่งเเละเข้าถึงยากเพียงไร

หลังคุยเรื่องสัพเพเหระไปพัก อาหารก็ถูกลำเลียงมาวางบนโต๊ะ สามสหายใช้เวลาจัดการอาหารตรงหน้าราวครึ่งชั่วโมง ก่อนตัดสินใจไปแวะซื้อเครื่องดื่มตรงคาเฟ่ของคณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ที่อยู่ส่วนลึกสุด และขึ้นชื่อว่า อร่อยที่สุดในมหาวิทยาลัย

นลินนากับลลนาเลือกดื่มชาทไวนิงส์ทั้งคู่ โดยนลินนาเลือกดื่มชารส เลดี้ เกรย์ ชาสีทองรสอ่อนเบาหอมกลิ่นผลไม้จำพวกมะกรูดของโปรด ส่วนลลนาเลือกดื่มชารสเพียว คาโมมายล์ที่ช่วยให้ผ่อนคลายได้ดี ขณะเกวลินรอบนี้เลือกดื่มโกโก้รสเข้มข้นหวานมัน ครั้นเดินเล่นพูดคุยสักพัก สามสาวก็พากันแยกย้ายตรงท่ามหาราช ท่าน้ำอันถูกเนรมิตเป็นสรวงสวรรค์ของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ กลบลบภาพคึกคักจอแจในอดีตให้กลายเป็นเพียงภาพถ่ายจางซีด

หญิงสาวเชื้อสายเปอร์เซียเลือกกลับบ้านด้วยรถเมล์แทนเรือด่วนฯ เพื่อให้มีโอกาสนั่งคุยกับลลนานานขึ้น บนรถโดยสารอัดแน่นไปด้วยผู้คน สองสาวยังคงหาเรื่องมาคุยกันได้ไม่รู้เบื่อ ตั้งแต่กระทู้ดราม่าในพันทิป ศาสนา ศิลปะ ปรัชญา ลามไปจนถึงประวัติศาสตร์ โดยลลนาชื่นชอบประวัติศาสตร์ของยุโรปกับเอเชียมากที่สุด ส่วนนลินนานั้นชื่นชอบอารยธรรมโบราณแทบทุกอารยธรรม รวมทั้งในแถบบ้านเกิดบ้าง แต่ไม่ลงลึกเท่าใด

เหนือลำน้ำเจ้าพระยาเงินวามระยับ ดวงอาทิตย์กลมโตราวลูกไฟกำลังคล้อยลับลงผืนธารา ตามตำนานของอินเดียโบราณ สูรยเทพคงกำลังทรงรถศึกลาลับขอบฟ้า ส่วนตามเทวตำนานของบาบิโลน สุริยเทพชามาชได้ปลดเปลื้องทิวากาล เชื้อเชิญจันทราเทพซินเยือนสู่ม่านฟ้าอันถูกย้อมเป็นสีส้มอมแดง



หลังฟันฝ่ากระแสจราจรมาได้ มือบางก็กดรีโมตเปิดรั้วเหล็กหนาหนักสีดำออกกว้าง กรายผ่านรั้วขาวก่ออิฐถือปูนประดับโคมไฟอาระเบียทอแสงวอมแวมใต้ฟ้าราตรี ถัดจากรั้วขาวนวลคือสวนบุปผชาติหลากพันธุ์หอมหวน มีทั้งดอกกุหลาบมอญหรือดอกยี่สุ่น ดอกมะลิ ดอกโมก ดอกกาสะลอง ดอกสุพรรณิการ์ หงส์พู่ พวงคราม สารภี และตาเบบูญ่าปลิดกลีบควงคว้างลงระดะพื้นปูอิฐ กึ่งกลางสวนสวยคือลานน้ำพุสิบสองสายซ่านเซ็นขาวหมดจด สีสันและกลิ่นอันผสมผสานลงตัว ทำให้นลินนาต้องสูดอากาศเข้าปอดอีกครา

พ้นสวนกว้าง เคหาสน์หินอ่อนสร้างตามสถาปัตยกรรมอินเดียสมัยราชวงศ์โมกุลอันผสมผสานระหว่างศิลปะอินเดียเเลเปอร์เซียได้อย่างกลมกลืนของตระกูลเทวาสถิตก็ปรากฏสู่สายตา หินอ่อนขาวสะอาดถูกกรุแทบทุกอณูของเคหาสน์ ประตูหน้าต่างล้วนเป็นซุ้มโค้งยอดแหลมในผังสี่เหลี่ยมวาดลวดลายเถาวัลย์ทองวิจิตร หน้าโถงทางเข้าลาดพรมเปอร์เซียจากอิหร่าน กลิ่นน้ำมันหอมระเหยอวลฟุ้งไร้กลิ่นกุหลาบ เนื่องจากนลินนาไม่ชอบกลิ่นกุหลาบเท่าใดนัก แม้ไม่ได้เกลียด

ล่วงผ่านโถงทางเข้า สาวใช้ผมดำหนาถักเปียยาวเลยสะโพกก็รีบวิ่งมาช่วยหอบหิ้วสัมภาระ หญิงสาวในฐานะลูกสาวเจ้าของเคหาสน์จึงส่งให้อย่างนุ่มนวล ถามพลางมองเข้าไปในตัวอาคาร

“คุณแม่อยู่ไหนเหรอ?”

สาวใช้นำของไปถือ ก้มหน้า หลุบตา “นายหญิงอยู่ห้องนั่งเล่นค่ะ”

ลูกสาวเจ้าของเคหาสน์พยักหน้า เดินเรื่อยๆ จนถึงห้องที่ถามถึง ท่วงทำนองดนตรีโบราณลอดผ่านประตูไม้ไร้การเคลือบเงา ครั้นเปิดประตูออก กลิ่นเครื่องหอมก็อวลปะทะจมูก โคมไฟทรงสี่เหลี่ยมฉลุลายประดับหินสีจากอียิปต์ทอแสงสลัว บนพรมขนสัตว์หนานุ่มปรากฏร่างของสตรีผมดำดุจขนกายาวเป็นคลื่นระสะโพก ดวงหน้าขาวนวลผุดผ่องเขียนคิ้วและตาคมกริบกำลังเอนพิงหมอนผ้าปักลายปศุสัตว์ของชนเผ่าแถบเอเชียกลาง

เมื่อรู้สึกถึงเงาคืบคลาน สตรีนางนั้นจึงเบือนมามองเผยดวงหน้างามผ่องผาดอย่างชนเชื้อสายผสม ดวงตาคมโตดำสนิทรับกับคิ้วเข้มโค้งสีเดียวกับตา สันจมูกเรียวรับกลีบปากอิ่มแดงดั่งผลทับทิม คางเรียวรับคอระหง ร่างในชุดกระโปรงปักลายกรอมเท้าบ่งความโปร่งสูง

สตรีผู้นี้คือ แม่ของนลินนา

“หนูกลับมาแล้วค่ะแม่” พูดพลางเลื่อนมือกดเปิดไฟ จนร่างโปร่งกลางห้องหยีตาแน่นรอปรับแสง แล้วจึงค่อยๆ ลืมตา บรรยากาศลึกลับเมื่อครู่จางหายสิ้น

“หรือลูก แล้ววันนี้เป็นยังไงบ้าง หนูเกวกับหนูนาสบายดีไหม?” อมันดารี เทวาสถิต นายหญิงของเคหาสน์หลังนี้เอ่ยถามบุตรีเพียงหนึ่งเดียวด้วยความอนาทร

“สนุกมากเลยค่ะ สองคนนั้นก็ยังสบายดี อ้อ ยายนาผอมลงด้วยนะคะ” สุ้มเสียงของนลินนาเผยแววแจ่มใสขึ้น น้ำเสียงเงียบเหงาจากการอาศัยในต่างถิ่นคนเดียวจางลง

“หรือจ้ะ? งั้นก็ดีแล้ว มาให้แม่ชื่นใจทีซิ” อมันดารีพูดพลางกรายไปหา โอบประคองดวงหน้าอันประพิมพ์ประพายกับนางมาหอมอย่างทะนุถนอม

ผู้คนล้วนบอกว่า อมันดารีกับนลินนาแทบถอดมาจากพิมพ์เดียวกัน ต่างตรงนลินนาผมเป็นสีน้ำตาลเข้ม วงหน้าโค้งได้รูปไร้กรามตามเชื้อสาย คิ้วเข้มพาดเหนือนัยน์ตาสีเดียวกับผม รับกับจมูกโด่งงามได้สัดส่วน และริมฝีปากบางแดงดั่งผลทับทิม ซ้ำยังมีรูปร่างสูงโปร่งไม่ต่างกัน เพียงแต่นลินนานั้นมีผิวสีงาช้าง ส่วนอมันดารีขาวดั่งหินอ่อน กระนั้นทั้งสองก็ยังคงความงามตามแบบฉบับชาวเปอร์เซียอันว่ากันว่า เป็นกลุ่มเดียวกับชาวอารยัน

อมันดารีมองดูหน้าลูกด้วยความห่วงหาอาทร ไม่คาดคิดว่า บุตรีของตนจะเติบใหญ่มาถึงเพียงนี้

ยิ่งรัก...ก็ยิ่งหวง ยิ่งห่วง...ยิ่งเป็นบ่วงใยรัดแน่น

อมันดารีหลงลืมไปว่า ความรักคือความปรารถนาดี แต่ความผูกพันคือบ่วงพันธนาการ และนกน้อยเมื่อเติบใหญ่ย่อมเหินร่อนทอดทิ้งรังรวง

คิดแค่นั้น ตาคมโตก็เศร้าลง ความรู้สึกบางประการทำให้อมันดารีอกว่างโหวงอย่างประหลาด พลันทราบว่า บุตรีสอบวิชาสุดท้ายเสร็จก็รีบเรียกตัวให้กลับมาโดยไว ความสังหรณ์ใจบางอย่างผุดพราย สัญชาตญาณของคนเป็นแม่ไม่เคยผิดพลาด เช่นเดียวกับสัญชาตญาณของเทวาสถิตที่ไม่เคยพลาดผิด คราสามีชาวอิหร่านเชื้อสายเปอร์เซียของนางจากไปนางก็รู้สึกดั่งนี้ ความรู้สึกเช่นนี้มันคืออะไรกัน

นางหวาดหวั่น และเฝ้าพร่ำสวดมนต์ ขอทวยเทวาทุกพระองค์โปรดปกปักคุ้มครองบุตรีของนาง โดยหารู้ไม่ว่า ทวยเทวาต่างหากคือผู้จะพรากบุตรีของนางไป

จิตหวั่นวิตก นึกถึงคำขอก่อนตั้งครรภ์นลินนาที่นางบอกว่า ขอเพียงลูกสักคนจะแลกกับอะไรก็ย่อมได้ นางเพิ่งสำนึกว่า ไม่ควรกล่าวไปเช่นนั้น ความคิดฟุ้งซ่าน พาให้หยาดน้ำใสเอ่อรื้น

นลินนามองหน้ามารดา พลางเช็ดหยาดน้ำใสหล่อริน “แม่อย่าร้องสิคะ หนูก็กลับมาแล้วนี่ไง”

หญิงสาวประคองหน้ามารดา จนร่างโปร่งของอมันดารีสะดุ้ง ปล่อยมือจากหน้าลูกสาว ปาดน้ำตาลวกๆ เอ่ยเสียงพร่า

“ขอโทษจ้ะ แม่แค่คิดถึงหนูไปหน่อย ลูกไปอาบน้ำเถอะ อีกเดี๋ยวแม่ครัวคงทำอาหารใกล้เสร็จแล้ว จะได้ลงมากินด้วยกัน”

หญิงสาวพยักหน้า มองจนแน่ใจว่า สตรีผู้มีพระคุณจะไม่ร่ำไห้อีก ก็ขึ้นไปอาบน้ำในอ่างหินอ่อนผสมน้ำมันหอมละมุนกรุ่น

สาวลูกครึ่งไทยเปอร์เซียนอนแช่พิงขอบอ่าง ไม่เข้าใจความหวาดกลัวของมารดา ปลอบใจตนว่า แม่อาจคิดมากไปเอง แต่...ลางสังหรณ์แห่งเทวาสถิตไม่เคยผิดพลาด

เผลอเอามือสัมผัสอกตนเอง

แล้วเหตุใด...อกหล่อนจึงว่างโหวงมิต่างกัน



เหนือฟากฟ้าราตรี ดาวศุกร์...ดาราแห่งมหาเทพีอิชทาร์กระจ่างแจ่มอยู่บนฟากฟ้า หากถูกบดบังด้วยทะเลแสงนีออนของมหานครจนมิอาจสังเกตได้ชัด กระนั้นในคืนนี้มันกลับทอแสงเจิดจ้ากว่าปกติคล้ายกำลังส่งรหัสลับบางอย่าง คล้ายต้องการบอกว่า กาลอันควรที่อีเอ พระบิดาแห่งพระนางประกาศไว้ได้มาถึงแล้ว!


**********************************************************************************************************************************

อภิธานศัพท์

ซิกกูแรต หมายถึง ศาสนสถานของชาวเมโสโปเตเมีย มีลักษณะคล้ายพีระมิด แต่เป็นชั้นๆ มักสร้างฐานสูง เพื่อป้องกันการโดนน้ำท่วม ในที่นี้หมายถึงซิกกูแรตอิเตเมนันกิ(Etemenanki Ziggurat) ของบาบิโลน โดยซิกกูแรตมีไว้สำหรับเข้าเฝ้าเทพเจ้า ส่วนวิหารจริงๆ ของมหาเทพมาร์ดุค คือ วิหารอีซากีลา(Esagila Temple) ซึ่งอยู่ลงมาทางใต้ของซิกกูแรตค่ะ

มาร์ดุค(Marduk) เป็นเทพเจ้าประจำนครของบาบิโลน ชาวบาบิโลนเชื่อว่า เทพเจ้ามาร์ดุคทรงสร้างโลกและมวลมนุษย์ขึ้น หลังสงครามของเหล่าทวยเทพ ทรงเป็นเทพเจ้าแห่งแสงสว่าง และผู้ขจัดความชั่วร้าย เป็นเทพเจ้าประจำดาวพฤหัสบดี

อีเอ(Ea) เป็นเทพเจ้าแห่งปัญญา เดิมเป็นเทพเจ้าของชาวซูเมอร์พระนามว่า เอนกิ(Enki) แม้จะเป็นเทพเจ้าผู้ทรงปัญญา แต่พระองค์ทรงขี้เซามาก มีเพียงเทพีนัมมู เทพีแห่งมหาสมุทร มารดาของพระองค์เท่านั้นที่ปลุกได้

อิชทาร์(Ishtar) เทพีแห่งรัก กามารมณ์ และสงคราม เป็นเทพีโบราณ มีพระนามในภาษาซูเมอร์ว่า อินันนา(Inanna) เป็นธิดาของเทพอีเอ ทรงเป็นเทพีแห่งดาวศุกร์



สวัสดีค่ะ ยินดีที่ได้รู้จักค่ะ นิยายเรื่องนี้เป็นเรื่องที่สองของไรท์เตอร์นะคะ ส่วนเรื่องแรกคือ ลิขิตรัก มนตราไอยคุปต์ ตอนแต่งเรื่องนี้ทีแรกกลัวมากๆ เลยค่ะ เพราะว่า เมืองไทยไม่มีคนเขียนนิยายบาบิโลนแบบจริงๆ จังๆ อีกทั้งไรท์เตอร์เป็นคนไม่ประสบความสำเร็จในการแต่งตามพล็อตเท่าไรค่ะ แต่เรื่องนี้วางพล็อตไว้หลวมๆ และพยายามจะทำตามพล็อตให้ได้ อ่านแล้วสงสัย ไม่เข้าใจ หรืออยากให้แก้ตรงไหนก็บอกได้นะคะ ถึงอย่างไรก็ขอฝากนิยายเรื่องนี้ไว้ในอ้อมใจด้วยค่ะ






เซธเวเรท
เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อ : 29 เม.ย. 2559, 08:41:07 น.
แก้ไขครั้งล่าสุด : 11 ก.ค. 2559, 12:57:10 น.

จำนวนการเข้าชม : 1589





   มัตติกาจารึกแผ่นที่ 1 >>
แว่นใส 29 เม.ย. 2559, 12:46:34 น.
จะได้ย้อนเวลาแล้ว


risesonne 29 เม.ย. 2559, 19:27:19 น.
ได้รู้ถึงกลิ่นไอของประวัติศาสตร์บาบิโลนเบยย สู้ๆนะคะ


Zephyr 19 พ.ค. 2559, 13:19:29 น.
เราชอบเรื่องแบบนี้
ลงชื่อตามติด และติดตามค่ะ


Likewizy 9 มิ.ย. 2559, 11:32:54 น.
เห เรื่องเกี่ยวบาบิโลเนีย ไม่เคยเห็นแฮะ ติดตามครับๆ


เข้าระบบ เพื่อแสดงความคิดเห็นด้วย weblove account