กล้วยไม้ในมือมาร
กล้วยไม้คือผู้หญิง...เธอคือผู้หญิงชาวจีนที่ถูกซื้อมาเป็นสาวรับใช้ตั้งแต่วัยเด็ก...นวนิยายเรื่องนี้ฉายภาพสยามประเทศใน พ.ศ. 2473
Tags: ผู้แต่งยังไม่ได้กำหนด tags ของนิยายเรื่องนี้

ตอน: ตอนที่ 18


18...


“แปดขวบค่ะ” อาลั้งตอบเสียงค่อยๆ ตามนิสัยประจำตัว
“แล้วอยากเรียนหนังสือไหม?” เจ้าหน้าที่คนเดิมถามเป็นภาษาจีน
“หนู...” อาลั้งเอ่ยได้แค่คำเดียว
ยี่เสี่ยเนี้ยก็ชิงกล่าวว่า “คนนี้อีไม่ได้เกิดในประเทศสยาม อีเกิดเมืองจีน อีเรียนหนังสือที่นี่ไม่ได้หรอก”
“อ๋อ...ไม่เป็นไร ที่นี่อนุญาตให้เรียนได้ เพียงแต่เด็กอยากเรียนหรือเปล่าเท่านั้นแหละ” แล้วเจ้าหน้าที่คนนั้นก็พูดกับอาลั้งต่อ “ว่ายังไงล่ะ?”
อาลั้งอยากพูดว่า ‘อยากเรียน’ แทบตาย แต่ไม่กล้าพูด จำใจต้องพูดว่า “ไม่อยากเรียนค่ะ”
“เพราะอะไร?” เจ้าหน้าที่คนนั้นยังซักต่อ เพราะเอ็นดูว่า อาลั้งเป็นเด็กเล็กที่สุดในกลุ่ม และหน้าตาน่ารักน่าเอ็นดูที่สุดในกลุ่ม
“เพราะว่า...” อาลั้งคิดหาคำแก้ตัวแทบแย่ กว่าจะนึกออก “เขียนหนังสือมันยากค่ะ”
“แต่เรียนหนังสือจะได้มีความรู้ติดตัวนะ” เจ้าหน้าที่เอ่ยยิ้มๆ
“โอ๊ย...อีเป็นผู้หญิง โตขึ้นก็ต้องแต่งงานมีลูกมีผัว ทำงานบ้าน รู้หนังสือไปก็เท่านั้น” ยี่เสี่ยเนี้ยเอ่ย
เจ้าหน้าที่ทั้งสองคนทำท่าว่าไม่ติดใจอะไรแล้ว
ยี่เสี่ยเนี้ยก็ว่า “พวกลื้อแยกย้ายกันไปทำงานได้แล้ว”
เด็กๆ พากันเดินออกจากห้องโถงรับรองไปยังครัวก่อน แล้วจึงแยกย้ายกันไปทำงาน
“ได้ยินว่าให้เด็กทำงาน ทำงานอะไรหรือ” เจ้าหน้าที่ถามยี่เสี่ยเนี้ยเป็นภาษาสยาม
ยี่เสี่ยเนี้ยก็ตอบเป็นภาษาสยาม “งานเล็กๆ น้อยๆ จำพวกกวาดบ้านถูบ้านเท่านั้นแหละค่ะ”
“เด็กๆ ทั้งหมดนี่เป็นหลานหมดเลยหรือ?” เจ้าหน้าที่ซัก ทั้งสามพากันนั่งลงที่เก้าอี้รอบโต๊ะฝังมุก
“ใช่แล้ว”
“แล้วทำไมเด็กไม่อยู่กับพ่อกับแม่ล่ะ?”
“คือบ้านอั๊วใหญ่มีที่มาก บ้านพวกอีเล็กคับแคบ ก็เลยเอามาฝากอั๊วเอาไว้” ว่าแล้วยี่เสี่ยเนี้ยก็ยื่นซองสีน้ำตาลสองใบให้กับเจ้าหน้าที่ทั้งสอง “อย่าว่าโง้นงี้เลยค่า นี่เป็นค่าน้ำร้อนน้ำชานิดๆ หน่อยๆ นะค้า”
เจ้าหน้าที่ทั้งสองยิ้มให้ยี่เสี่ยเนี้ย ก่อนจะผลักซองบนโต๊ะตรงหน้ากลับไปที่เบื้องหน้านาง
“พวกผมรับไม่ได้หรอกครับ เอาเป็นว่า เมื่อไหร่เด็กๆ พร้อมที่จะเรียน ก็ส่งแกไปโรงเรียนก็แล้วกัน...พวกผมลาล่ะครับ”
เจ้าหน้าที่ทั้งสองต่างยืนขึ้น แล้วหันหลังเดินออกไปจากร้าน
ยี่เสี่ยเนี้ยถอนหายใจอย่างโล่งอก พึมพำว่า “อีสองคนเป็นคนดีจริงๆ ไม่รับสินบนเหมือนคนอื่นๆ”

วันที่เด็กๆ ดีใจที่สุดคือวันตรุษจีน เพราะจะได้หยุดพักงานหนึ่งวัน และได้รับเงินแต๊ะเอีย
อาลั้งก็ได้แต๊ะเอียด้วย เด็กหญิงกำซองแดงหลายใบอยู่ในมือ ยืนใจลอย จนกระทั่งซาเสี่ยเนี้ยมาเห็นเข้า จึงเรียก
“อาลั้ง”
แม้ไม่ดังนัก แต่เด็กหญิงก็สะดุ้ง พอเห็นเป็นซาเสี่ยเนี้ยจึงค่อยคลายใจ
“ซาเสี่ยเนี้ย ซินเจียอยู่อี่ ซินนี้ฮวดไช้ค่ะ”
“อืมม์...” ซาเสี่ยเนี้ยพยักยิ้ม แล้วยื่นซองแดงให้ “เอ้านี่อั่งเปา (ซองแดงในเงินแต๊ะเอีย) ซาเสี่ยเนี้ยให้ลื้อเป็นเด็กดีนะ”
“ขอบคุณค่ะ” อาลั้งย่อตัวคารวะอย่างอ่อนช้อย
ทำให้ซาเสี่ยเนี้ยยิ้มเอ็นดู ก่อนจะถามว่า “ได้แต๊ะเอียนี่ จะเอาไปทำอะไร?”
“ให้แม่ค่ะ แต่...” อาลั้งหน้าเศร้า
“แต่อะไรหรือ?”
“หนูไม่รู้จะเอาไปให้แม่ยังไงค่ะ”
“งั้น...ตามซาเสี่ยเนี้ยมานี่”
ซาเสี่ยเนี้ยพาอาลั้งไปที่ห้องโถงรับรอง นางนั่งลงที่เก้าอี้ตรงโต๊ะฝังมุก แล้วเรียกอาลั้ง “มายืนตรงนี้ มายืนใกล้ๆ อั๊ว”
อาลั้งทำตามอย่างสงบเสงี่ยม
“ทีนี้ลื้อเอาอั่งเปามานับสิว่าได้แต๊ะเอียมาเท่าไหร่ ถ้าแลกเป็นเงินเมืองจีนจะได้เท่าไหร่”
อาลั้งเอาซองทั้งหมดวางลงบนโต๊ะ ซาเสี่ยเนี้ยช่วยแกะออกมานับต่อหน้า ได้เงินทั้งหมด ถ้าแลกเป็นเงินเมืองจีนยังไม่ครบสี่เหรียญดี
ซาเสี่ยเนี้ยถามว่า “ลื้อจะส่งไปให้แม่หมด หรือจะแบ่งเอาไว้ใช้บ้าง”
“หนูจะส่งไปให้แม่หมดค่ะ” อาลั้งตอบ
“ลื้อเป็นเด็กกตัญญูมากนะ...เอายังงี้ อั๊วจะเพิ่มเงินให้ครบสี่เหรียญ แล้วส่งไปที่อาเอี้ยอาไน่ ให้อาเอี้ยอาไน่ส่งต่อไปให้แม่ของลื้อ แล้วอั๊วจะช่วยเขียนจดหมายให้”
“ขอบคุณค่ะ ซาเสี่ยเนี้ย” เด็กหญิงย่อกายคารวะ
พอดีคุณชายเดินเข้ามา เด็กชายยิ้มให้อาลั้งอย่างมีเมตตา เด็กหญิงได้แต่ก้มหน้าอายๆ
“อาป้อ ช่วยหยิบปากกากับกระดาษเขียนจดหมายให้แม่ที”
“จะทำอะไรครับแม่?” คุณชายถามมารดา
“แม่จะช่วยเขียนจดหมายให้อาลั้ง”
“อาลั้งจะเขียนจดหมายหาใครหรือครับ?”
“หาแม่ของอี”
คุณชายก็ไม่ถามอะไรต่อ เดินออกไปจากห้องโถงรับรองครู่หนึ่ง ก็กลับเข้ามาพร้อมกับกระดาษเขียนจดหมายและปากกากับขวดหมึก แล้วคุณชายก็นั่งลงที่เก้าอี้อีกตัวถัดจากซาเสี่ยเนี้ยไป
ซาเสี่ยเนี้ยจัดแจงคลี่กระดาษ ใช้แท่งไม้ทับให้อย่าม้วนตัว แล้วใช้ปากกาคอแร้ง จุ่มหมึกในขวดที่คุณชายเปิดไว้ให้ พลางถาม “อาลั้งลื้อจะพูดกับแม่ลื้อว่ายังไง?”
“แม่ขา… แม่อยู่เมืองจีนสบายดีหรือเปล่า?” อาลั้งเอ่ย “หนูอยู่ที่เมืองสยามสบายดีค่ะ หนูคิดถึงแม่มาก หนูฝันว่าบินข้ามทะเลใหญ่ไปหาแม่ทุกคืน…”
ทำเอาซาเสี่ยเนี้ยถึงกับน้ำตาซึม ต้องวางปากกา แล้วหยิบผ้าเช็ดหน้าขึ้นซับน้ำตา คุณชายมองเด็กหญิงอย่างสงสารในโชคชะตาที่อาภัพของนาง

หลังวันตรุษจีนทุกอย่างก็ดำเนินไปเหมือนเดิม สองเดือนให้หลัง จดหมายตอบของอาลั้งก็มาถึง ซาเสี่ยเนี้ยไม่อยากให้เรื่องที่อาลั้งติดต่อกับแม่เป็นที่เอิกเกริก ก็ใช้อาเฮี่ยะมาตามอาลั้งบอกว่าจะให้ช่วยทำงานเล็กๆ น้อยๆ
อาเฮี่ยะมาที่ครัว ซึ่งอาลั้งกำลังล้างผัก บอกเสียงดังเพื่อให้อาไล้แม่ครัวได้ยินด้วย “อาลั้ง… ซาเสี่ยเนี้ยให้ไปหาที่ห้องนอน”
“เรื่องอะไรหรือ?” คนที่ถามไม่ใช่อาลั้งแต่เป็นอาไล้
“ไม่รู้เหมือนกันป้าไล้ รู้แต่ว่าซาเสี่ยเนี้ยให้ไปหา จะให้ถูห้องมั้ง” อาเฮี่ยะตอบฉาดฉาน
“งั้น…อาลั้งลื้อรีบไป อย่าให้ซาเสี่ยเนี้ยรอนาน เข้าใจไหม?” อาไล้ถือโอกาสออกคำสั่งอย่างวางอำนาจ
“ค่ะ” อาลั้งรับคำ วางมือจากผัก แล้วเช็ดมือให้แห้ง ก่อนจะออกจากห้องครัวไป ยังได้ยินเสียงอาไล้สั่งอาเฮี่ยะว่า
“อาเฮี่ยะ ลื้อมาล้างผักแทนอีที”
“เออๆ” อาเฮี่ยะรับคำ
อาลั้งไปหาซาเสี่ยเนี้ยที่ห้องนอนเห็นประตูปิดอยู่ ก็เคาะประตูเบาๆ
“ใคร?” ซาเสี่ยเนี้ยถามจากในห้อง
“หนูเองค่ะ อาลั้ง”
ซาเสี่ยเนี้ยจึงมาเปิดประตูให้ พอเห็นเด็กหญิง ก็พยักหน้าให้ “เข้ามาสิ”
อาลั้งก้าวเข้าไปในห้องปุ๊บ ซาเสี่ยเนี้ยก็ปิดประตูลงกลอนปั๊บ แล้วบอกเด็กหญิงว่า “มานั่งนี่” ซาเสี่ยเนี้ยเดินไปนั่งที่เก้าอี้หน้าโต๊ะเครื่องแป้ง อาลั้งก็ตามไปนั่งที่พื้นไม้ใกล้ๆ ขาของนาง
“จดหมายตอบของแม่ลื้อมาถึงแล้ว” ซาเสี่ยเนี้ยบอก
“จริงหรือคะ?” เด็กหญิงถามอย่างดีใจ
“นี่ไง” ในมือซาเสี่ยเนี้ยถือซองสีน้ำตาลอ่อนซองหนึ่ง
“แต่หนูอ่านไม่ออก” อาลั้งพูดเสียงละห้อย
“อั๊วจะอ่านให้ลื้อฟัง” ว่าแล้วซาเสี่ยเนี้ยก็เปิดจดหมายออกอ่าน “อาลั้งลูกแม่ แม่ก็คิดถึงลูกมาก เงินที่ลูกฝากมาให้แม่ แม่ได้รับแล้ว อาเอี้ยอาไน่กรุณาให้คนไปตามแม่มารับจดหมายและเงิน แล้วยังกรุณาให้เสมียนในบ้านท่านช่วยเขียนจดหมายตอบให้แม่ แม่อยากบอกลูกว่าแม่รักลูกมาก และอีกไม่นานเราอาจจะได้พบกันที่เมืองสยาม เพราะแม่คิดจะให้พี่ชายใหญ่ของลูกไปเมืองสยาม ไปทำงานกับยี่เสี่ยซาเสี่ยก่อน พอเก็บเงินได้ แม่ พี่ชายรองของหนู และอาซ้อ (พี่สะใภ้) ของหนู ก็จะตามไปทีหลัง ส่วนพี่ชายใหญ่ที่จะไปก่อน คงต้องรออีกสองเดือน รอให้อาซ้อของหนูคลอดลูกก่อนจึงจะเดินทางไป อาเอี้ยอาไน่กรุณาให้ยืมเงินค่าเดินทางก่อน แล้วค่อยทำงานใช้คืนทีหลัง นับว่าเป็นพระคุณต่อครอบครัวเราอย่างสูง ขอให้ลูกรักษาตัวให้ดีนะ อย่าเจ็บไข้ได้ป่วย แม่เองก็ฝันถึงหนูอยู่บ่อยๆ ขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครองลูกนะ ลูกรักของแม่ อาซิ่ว”
ซาเสี่ยเนี้ยอ่านจบ เห็นอาลั้งนั่งน้ำตาอาบแก้ม จึงถามว่า
“เป็นอะไรไป”
“หนูดีใจค่ะที่แม่เขียนจดหมายถึงหนู แล้วยิ่งดีใจที่จะได้เจอกับพี่ชายใหญ่”
“ดีแล้วล่ะ พี่ชายลื้อมา ลื้อจะได้ไม่เหงา” ซาเสี่ยเนี้ยกล่าว “แต่จดหมายนี้ จะเอายังไงดี ให้ลื้อไป ลื้อก็ไม่มีที่เก็บ”
“ฝากไว้ที่ซาเสี่ยเนี้ยก่อนได้ไหมคะ?” เด็กหญิงถาม สีหน้าเกรงใจ
“ได้สิ” ซาเสี่ยเนี้ยยิ้มให้ แล้วพับเก็บจดหมายขึ้น ก่อนจะเอ่ยต่อว่า “เรื่องนี้ ลื้ออย่าไปพูดให้ใครฟังนะ”
“ทำไมคะ?” อาลั้งถามออกจะงุนงง
“สุภาษิตคนสยามบอกว่า คนรักเท่าผืนหนัง คนชังเท่าผืนเสื่อ” ซาเสี่ยเนี้ยเอ่ย
“หมายความว่าอย่างไรคะ?”
“หมายความว่า คนรักเรามีน้อยกว่าคนที่เกลียดเรา เรื่องบางเรื่องจึงต้องเก็บเอาไว้เป็นความลับ เปิดเผยออกไปแล้วอาจจะเสียหายก็ได้”
“ค่ะ หนูจะไม่บอกเรื่องนี้กับใครค่ะ”
“ดีแล้ว ไปทำงานต่อเถอะ แล้วถ้ามีใครถาม บอกว่าอั๊วเรียกมาเช็ดพื้น เพราะอั๊วทำแป้งหก”
“ค่ะ” อาลั้งรับคำ แล้วค่อยๆ ลุกขึ้น เดินออกจากห้องไป

อาฮวยได้ลูกชาย ยังความดีใจให้กับทุกๆ คน โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาตั่วซึ่งเป็นพ่อของเด็ก
ระหว่างที่อาฮวยอยู่เดือน อาตั่วต้องช่วยซักเสื้อผ้าให้เมีย และผ้าอ้อมของลูก ส่วนเรื่องอาหารบำรุงนั้น ทางบ้านของอาฮวยจัดหามาให้ เป็นไก่เป็นๆ ห้าตัวกับเครื่องยาจีนสำหรับตุ๋นไก่ห้าห่อ คนที่จัดการเรื่องตุ๋นไก่คืออาซิ่ว
อาซิ่วตุ๋นน้ำซุปไก่ไว้ให้ลูกสะใภ้ แล้วยกไปให้นางในห้องนอน
“เอ้านี่น้ำซุปไก่ ดื่มซะอาฮวย จะได้แข็งแรง มีนมให้ลูกเยอะๆ” อาซิ่วพูดกับลูกสะใภ้
“อ้อ...อาม่า เนื้อไก่ อั๊วก็จะกินด้วยนะ” อาฮวยบอกขณะที่ถือชามซุปไก่อยู่ในมือ
“อ้าว...ปกติคนกินซุปไก่จะให้ผลดีเต็มที่จะไม่กินเนื้อไก่นี่นา” อาซิ่วถามอย่างสงสัย
“ก็กินแต่ซุปมันไม่อิ่มนี่นา อั๊วก็เลยจะกินเนื้อไก่ด้วย” อาฮวยเอ่ย ก่อนจะย้อนว่า “หรือว่าอาม่าคิดจะกินเนื้อไก่เอง?”
อาซิ่วได้แต่นิ่งอึ้ง จะว่าคำของลูกสะใภ้ไม่จริงเสียทีเดียวก็ไม่ถูก นางคิดจะใช้เนื้อไก่ที่ตุ๋นเอาน้ำซุปแล้วเป็นกับข้าว เมื่อลูกสะใภ้หวงกินขนาดนี้ นางจึงได้แต่ว่า
“ตามใจลื้อก็แล้วกัน ลื้อจะกินเนื้อไก่ด้วยก็กินไปเถอะ” แล้วอาซิ่วก็เดินออกจากห้องนั้นไป
อาตั่วที่ได้ยินเรื่องทั้งหมด เพราะอยู่ในห้องนั้นด้วย ก็ว่า “อาฮวย ลื้อทำไมพูดกับแม่ยังงั้น”
“ก็มันจริงนี่นา อั๊วรู้ทันแม่ลื้อหรอกน่า อีคิดจะกินไก่ของอั๊ว” อาฮวยว่า
“เราเป็นครอบครัวเดียวกัน มีอะไรก็แบ่งกันกินสิถึงจะถูก” อาตั่วพยายามเกลี้ยกล่อมภรรยา
“ถูกของลื้อไปคนเดียวเถอะ อั๊วไม่เอาด้วย เดี๋ยวอั๊วกินไม่อิ่ม แล้วจะไม่มีน้ำนมให้ลูกกิน”
อาตั่วจึงได้แต่ส่ายหน้าในขณะที่อาฮวยกำลังดื่มน้ำซุปเสียงดัง พออาฮวยดื่มเสร็จอาตั่วก็ช่วยรับชามมาวางไว้ที่โต๊ะหัวเตียง แล้วพูดว่า
“อาฮวย...อั๊วจะไปเมืองสยาม”
“หา...” อาฮวยอุทานเสียงหลง “ลื้อจะไปทำไม?”
“อั๊วจะไปทำงานหาเงิน ส่งมาให้ลื้อใช้สบายๆ เขาว่ากันว่าที่เมืองสยามหาเงินง่าย ขอเพียงขยันขันแข็งเท่านั้นแหละ ดูอย่างอาลั้งสิ อีเป็นเด็ก แถมถูกขายไปเป็นคนรับใช้ ไม่มีเงินเดือน อียังเก็บเงินส่งมาให้แม่ได้ตั้งสี่เหรียญ แต่อั๊วทำงานอยู่ที่นี่ได้เงินเดือนละเหรียญเท่านั้นจะใช้จ่ายแต่ละเดือนยังไม่พอเลย”
“ลื้อว่าอะไรนะ อาลั้งส่งเงินมาให้อาม่าตั้งสี่เหรียญ ทำไมอั๊วไม่รู้เรื่องนี้เลย” อาฮวยโวยวาย
อาตั่วได้แต่อึ้งที่เผลอพูดเรื่องเงินที่อาลั้งส่งมาให้แม่ออกไป
“ลื้อว่า...เราเป็นครอบครัวเดียวกัน มีอะไรก็ต้องแบ่งกันกิน แล้วทีอาม่ามีเงินอยู่ในกระเป๋าแท้ๆ กลับไม่ยอมควักออกมาซื้ออาหารดีๆ บำรุงครรภ์ของอั๊ว ปล่อยให้อั๊วอดอยากอย่างนี้ถูกต้องเหรอ?” อาฮวยว่าฉอดๆ
“ลื้อก็ไม่ได้อดอยากอะไรนี่นา กินอิ่มกว่าทุกคนด้วยซ้ำ ลื้อกินข้าวสวยทุกมื้อในขณะที่คนอื่นกินเพียงข้าวต้มผสมมันเทศ” อาตั่วพยายามอธิบาย
แต่อาฮวยแว้กว่า “ข้าวสวยนั่นก็ข้าวของแม่อั๊ว ครอบครัวลื้อเคยหาอะไรดีๆ ให้อั๊วกินบ้าง?”
“ก็แกงจืดปลาไง?” เสียงอายี่แทรกขึ้นเปิดประตูผั๊วะเข้าไปในห้องอย่างไม่พอใจ โดยมีอาซิ่วพยายามรั้ง
“ใจเย็นๆ ไว้อายี่”
“ไม่เย็นแล้วละแม่” อายี่หันไปบอกมารดาที่รั้งแขน “อีเป็นอาซ้อที่เห็นแก่ตัวที่สุด ทั้งขี้เกียจทั้งเห็นแก่กิน!”




คำรัก
เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อ : 23 ม.ค. 2556, 13:49:57 น.
แก้ไขครั้งล่าสุด : 23 ม.ค. 2556, 13:49:57 น.

จำนวนการเข้าชม : 1246





<< ตอนที่ 17   ตอนที่ 19 >>
ree 23 ม.ค. 2556, 20:52:29 น.
นึกว่าอาลั้งจะมีโอกาสได้เรียนซะอีก


glory 23 ม.ค. 2556, 21:43:01 น.
เขียนดีจังค่ะ น่าติดตาม
เอาใจช่วยอาลั้งและคนเขียนนะคะ


คำรัก 25 ม.ค. 2556, 13:41:05 น.
ขอบคุณค่ะ :)


เข้าระบบ เพื่อแสดงความคิดเห็นด้วย weblove account