เสน่ห์รักสราญไทย
เมื่อหนุ่มลูกครึ่งรูปหล่อ 'เอ็ดเวิร์ด อรชุน คอร์นเนอร์'
หลานชายเจ้าของ 'อุทยานหุ่นขี้ผึ้งวรรณกรรมสราญไทย'
คิดทุบทำลายสถานที่อันเปี่ยมคุณค่าของชาวสราญไทยท้ิง เพื่อสร้างรีสอร์ทครบวงจร

ชาวสราญไทยเดือดเนื้อร้อนใจจนต้องขอให้คุณครูภาษาไทยสุดมั่น อุดมการณ์สูง
'ทิพเกสร' หลานสาวอดีตนักเลงเก่าประจำหมู่บ้านให้เป็นตัวแทนออกโรงเจรจา

ท่ามกลางพันธะสัญญา และสถานการณ์ที่ก่อเกิด
ได้ให้กำเนิดความรู้สึกดีๆ ของหัวใจทั้งสองดวง


Tags: รัก กุ๊กกิ๊ก โรแมนติก คอมเมดี้ วรรณคดี วรรณกรรม

ตอน: ตอนที่ ๑

แจ้งเปลี่ยนชื่อเรื่องค่ะ ^^...
ในตอนบทนำนั้น ผู้เขียนได้ลงชื่อเรื่องไปว่า 'เสน่หาสราญไทย' ซึ่งเป็นชื่อเดิมที่ตั้งไว้ในตอนแรก
แต่มาปิ๊งแว้บชื่อใหม่ได้ไม่นาน พออัพลงก็เลยเบลอใส่ชื่อเก่าไปเฉยเลย
ซึ่งชื่อใหม่นี้คือ 'เสน่ห์รักสราญไทย' ค่ะ
ฝาก 'สราญไทย' ไว้ในอ้อมใจของเพื่อนๆ ด้วยนะค้า ^-^


ตอนที่ ๑

ตุ้ง! ตุ้ง! ตุ้ง!
เสียงไม้กวาดกระทุ้งพื้นไม้ชั้นสองของบ้านสองชั้นขนาดกลาง
ทำให้ร่างสี่ร่างที่นอนเรียงกึ่งทับกึ่งเบียดกันบนเตียงค่อยขยับเคลื่อนเหมือนปฏิกิริยาตอบโต้
เปลือกตาแต่ละคนกระตุกนิดๆ เมื่อถูกกระชากออกจากห้วงนิทราของตน
ก่อนที่จะพยายามข่มเปลือกตาให้ปิดลงแน่นเพื่อกลับเข้าไปในนิทรารมณ์ใหม่อีกครั้ง

ตุ้งๆๆๆๆๆๆๆๆๆ!!!
คราวนี้เสียงไม้กวาดกระทุ้งดังหนักและถี่ขึ้นกว่าเดิม
เพราะมือกระทุ้งนั้นเร่งความแรงและความถี่เมื่อไร้เสียงตอบรับจากปลายทางด้านบน
นั่นเหมือนสัญญาณที่บอกว่า ‘ยังไม่มีใครตื่น’

ตุ้งๆๆๆๆๆๆๆๆๆ!!!
เสียงกระทุ้งดังหนักและถี่ขึ้นและไม่มีทีท่าว่าจะหยุด
ทำให้สี่ร่างที่นอนกึ่งทับกึ่งเบียดกันอยู่นั้นเริ่มขยับมากกว่าปกติ
เสียงกระทุ้งนั้นมีอานุภาพร้ายแรงขนาดสามารถกระชากสติยามเช้าของทั้งสี่ให้หลุดออกมาจากห้วงนิทรา
ก่อนที่ใครคนหนึ่งซึ่งดูเหมือนจะคนที่โตสุด...พี่ใหญ่ของกลุ่ม กระดิกปลายเท้าสองสามครั้ง
เหมือนการสะกิดปลายขาคนที่นอนขวางอยู่ปลายเท้า
ซึ่งเป็นหนุ่มน้อย... ผู้ชายหนึ่งเดียวในบรรดาทั้งสี่ร่างบนเตียงให้ขยับ

“ฮื่อ” เสียงครางฮื่อฮ่ามาจากลำคอของคนถูกสะกิด

“โก้ กระทุ้งรับดิ” คนใช้ปลายเท้าสะกิด

“ฮื่อ” หนุ่มน้อย...ผู้ถูกปลายเท้าสะกิดยังส่งเสียงฮื่อฮ่า

เมื่อเห็นว่าผู้ชายคนเดียวนี้ไม่ขยับ พี่ใหญ่เลยใช้ศอกสะกิดสาวน้อยอีกคนที่ตัวเล็กผอมบางข้างๆ เรียกเสียงอู้อี้

“กู๊ด กระทุ้งกลับดิ”

“อือๆ” คราวนี้ได้ผล สาวน้อยตัวเล็กพลิกตัวตะแคงขวา
วาดแขนเล็กๆ ลงไปที่พื้นด้านล่าง เคาะเบาๆ สามทีเพื่อตอบรับเสียงกระทุ้งจากด้านล่าง
แต่คงจะเบาไปเพราะเสียงกระทุ้งไม่ได้หยุดเลย

“ดังๆ ดิ” พี่ใหญ่ยังคงสั่งเสียงอู้อี้ ตายังปิดอยู่

สาวน้อยตัวเล็กกำหมัดแน่น เคาะกลับให้แรงกว่าเดิมอีกหลายทีจนเสียงกระทุ้งหยุดไป
ก่อนที่เจ้าตัวจะผุดลุกขึ้นมาคนแรก ขยี้ตาและผมยาวยุ่งเหยิง
มองบรรดาลูกพี่ลูกน้องของตัวเองที่ยังไม่ไหวติงแล้วเริ่มลงมือปลุกทีละคนโดยเริ่มจากพี่ใหญ่

“พี่เก๋ ตื่นได้แล้ว เดี๋ยวยายด่า เดี๋ยวตาขึ้นมาปลุกเอง”


ทันทีที่สี่พี่น้องชักแถวเดินขบวนลงมาจากชั้นบนในชุดนอนด้วยท่าทางงัวเงียสะลึมสะลือ
เสียงเบาๆ เล็กๆ ก็ดังขึ้น
“กว่าจะตื่นได้ ทั้งพี่ทั้งน้องเลยนะ บอกแล้วว่าอย่านอนดึก
นอนดึกแล้วมันตื่นสาย มันทำอะไรไม่ทันกินน่ะรู้ไหม”

“รู้จ้ะ” สี่พี่ตอบแทบจะพร้อมกันอย่างแผ่วเบา

“รู้แล้วก็ไปอาบน้ำได้แล้วไป” เจ้าของเสียงคือสายใจ ย่าหรือยายของทั้งสี่พี่น้อง
ที่พอบ่นแล้วก็เดินออกไปยังหน้าบ้านซึ่งเปิดเป็นร้านขายของ
และในยามเช้านี้บริเวณพื้นที่โล่งหน้าบ้านก็เปิดเป็นร้านกาแฟร้อน
มีผู้หลักผู้ใหญ่วัยห้าสิบกว่าขึ้นไปมารวมตัวกันเพื่อพบปะพูดคุยกันคึกคักทุกเช้า

“แหม... รู้ รู้กันตลอดแหละเนี่ย แต่ตื่นสายทุกที”
สุ้มเสียงเหมือนแขวะ แต่เจ้าของเสียงนั้นเดินยิ้มร่ามาอย่างอารมณ์ดีและขบขันมากกว่า
“โห ชักแถวเรียงสี่กันมางี้ เมื่อคืนไปขลุกรวมกันล่ะสิ”

“ใช่ แม่รู้ได้ไง” กรรณิการ์ สาวน้อยตัวเล็กที่สุดถามเสียงยุ่งๆ หล่อนเป็นลูกสาวแท้ๆ คนเดียวของผู้ทักทาย

“โหย รวมตัวกันครบองค์ประชุมอย่างนี้ ไม่ต้องบอกก็รู้จ้ะ” ราตรี แม่ของกรรณิการ์บอกอย่างรู้ทัน
และบอกต่ออย่างภาคภูมิใจ ก่อนดักคออย่างรู้ทัน
“ก็ดีแล้ว ฉันจะได้กระทุ้งห้องเดียว กระทุ้งทีเดียวได้ครบสี่คนเลย
มัวแต่ดีดนิ้ว 'ป๊อกๆ' กันอยู่สิเมื่อคืนน่ะ”

“ทำพูดไป อาสามก็อยากมา 'ป๊อกๆ' กับพวกหนูใช่ไหมล่ะ”
คราวนี้ทิพเกสร... หญิงสาวผู้เป็นพี่ใหญ่สุดที่อยู่ท้ายขบวนว่าเสียงยุ่ง

“แหม... ทำพูดดีไปนะคุณครู นี่ถ้าลูกศิษย์รู้ว่าเล่นไพ่แล้วนอนตื่นสาย ไม่อายหรือจ๊ะ”
ราตรียังเหน็บอีกแบบขำๆ แต่อีกฝ่ายไม่ขำ ทำหน้ามุ่ยตอบ

“ป่านนี้ลูกศิษย์พี่เก๋เขารู้กันทั้งหมู่บ้านแล้วล่ะ
อาสามเล่นกระทุ้งดังลั่นไปถึงสี่แยก”
กฤษณะหนุ่มน้อย...ชายเดียวในทีมซึ่งยืนอยู่หน้าพี่ใหญ่บอก

“ก็งี้แหละจ้ะ วิธีปลุกเฉพาะครอบครัว” ราตรีว่า

“ก็ใช่สิ มีครอบครัวไหนบ้านไหนเขาเอาไม้กวาดกระทุ้งปลุกลูกปลุกหลานอย่างนี้บ้าง
อยากจะรู้จริงเชียว” ทิพเกสรบ่น

“ไปๆ อาบน้ำกันได้แล้ว ตากับปู่เขารอให้ไปช่วยล้างแก้วอยู่” ราตรีบอก

ลูกและหลานๆ มองหน้ากันอย่างเข้าใจ ‘ตากับปู่’ ที่ว่าก็คนเดียวกันนั่นแหละ
ที่ต้องเรียกต่างกันเพราะลำดับในวงญาตินั่นเอง

ทิพเกสร กฤษณะและกรรณิการ์พยักหน้าหงึกหงัก
ก่อนเดินแยกย้ายกันไปเตรียมตัวอาบน้ำ
ราตรีมองตามลูกสาวและหลานสาวแล้วนึกขึ้นได้ว่าหายไปหนึ่งเลยหันกลับมาก็พบ...
ร่างกลมๆ ของเด็กสาวผู้อายุน้อยสุด
แต่น้ำหนักมากสุดของเกษรานอนกอดตุ๊กตาหมีอยู่บนเปลกลมหน้าโทรทัศน์ จึงไปสะกิดเรียก

“เก่ง... เก่ง” เมื่อเจ้าตัวไม่ขยับเขยื้อน ราตรีก็ร้องประกาศ
“อ้าวเฮ้ย... ใครก็ได้มาแซะไอ้เก่งออกจากที่นอนที นอนขึ้นอืดเป็นพะยูนเกยตื้นแล้ว... เร็ว”



บ้านสองชั้นขนาดกลางปลูกติดริมถนน
หน้าบ้านของชั้นแรกนั้นเปิดเป็นร้านขายของที่ขายทุกอย่าง
ตั้งแต่หมู เห็ด เป็ด ไก่ ผัก ของใช้ในบ้านพวกสบู่ ยาสระผม และจิปาถะอื่นๆ
ที่หากต้องการก็แวะมายังร้านที่ทุกคนเรียกกับแบบปากต่อปากว่า ‘ร้านปู่โจ’
ซักถามได้ในสิ่งที่ต้องการ กว่าร้อยละแปดสิบมีทุกอย่างที่ท่านต้องการ

บริเวณด้านหน้าของร้านขายของ
มีพื้นที่ด้านหน้าเหลือพอวางโต๊ะม้าหินอ่อนและโต๊ะแบบพับได้
สำหรับเปิดบริการขายกาแฟยามเช้าให้กับเหล่าสมาชิกในหมู่บ้านได้มารวมตัวกันในยามเช้า
บ้างมาซื้อผักและเนื้อสัตว์ไปเตรียมทำอาหารเลี้ยงครอบครัว
บ้างก็มากินกาแฟ ชา ไข่ลวกกับปาท่องโก๋พร้อมพูดคุยกันเกี่ยวกับเรื่องทั่วไป
บทสนทนามีทั้งดิน ฟ้า อากาศ และการเมือง
แต่ถึงจะต่างความคิดก็ไม่มีใครกล้ามีเรื่องในร้านปู่โจ
เพราะเจ้าของร้านนั้นนับว่าเป็นนักเลงเก่าแห่ง ‘สราญไทย’ หมู่บ้านเล็กๆ ชื่อเดียวกับตำบล
ที่ตั้งอยู่ระหว่างเส้นการเดินทางในอำเภอขนาดเล็ก ในจังหวัดแถบภาคตะวันตกของกรุงเทพมหานคร

หลังจากอาบน้ำแต่งตัวเรียบร้อยแล้ว
ทิพเกสร กฤษณะ กรรณิการ์ และเกษราก็เข้าประจำตำแหน่งของตน
ตามปกติแล้วในช่วงวันหยุดเสาร์ – อาทิตย์
หลานๆ ทั้งสี่ของปู่ / ตาโจและย่า/ยาย สายใจจะต้องมาช่วยกันทำความสะอาดบริเวณหน้าร้าน
เก็บแก้ว เก็บถ้วยกาแฟไปล้าง
รวมถึงช่วยกันขายของให้กับเพื่อนบ้านหรือลูกค้าที่มาซื้อของ
โดยหลานๆ แบ่งหน้าที่กันตามความเหมาะสม

กฤษณะรับหน้าที่กวาดลานหน้าบ้านหรือหน้าร้านกับกรรณิการ์
ส่วนเกษราน้องเล็กสุดนั้นคิดเลขไวสุด
ย่าสายใจเลยให้ไปช่วยขายของเพื่อบวกเงินและทอนสตางค์ให้ลูกค้า
ขณะที่พี่สาวคนโต...ทิพเกสร ชอบล้างแก้วล้างจาน
จึงมีหน้าที่คอยเก็บแก้วที่บรรดาสมาชิกสภากาแฟของร้านปู่โจมาล้าง

‘สภากาแฟ’ นี้ไม่เพียงแค่ทิพเกสรที่เรียกขานอยู่ในใจ
แม้แต่ใครๆ ก็รู้กันเป็นนัยๆ ว่าการที่ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน ครูใหญ่ และสมาชิกหนุ่มน้อย
หนุ่มเหลือน้อยในสราญไทยมารวมกันที่หน้าร้านปู่โจทุกเช้านั้นก็คือ ‘สภา’ ย่อมๆ
ที่มีการจิบชาและกาแฟเป็นหลักพร้อมกับพูดคุยเรื่องทั่วไปเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดซึ่งกันและกัน

หลานทั้งสี่ปฏิบัติอย่างนี้ทุกวันหยุดเสาร์ อาทิตย์
เพราะวันธรรมดานั้นแต่ละคนติดภารกิจทำงานและเรียนหนังสือ
ซึ่งในบรรดาหลานสี่คน มีเพียงทิพเกสรหลานสาวคนโตคนเดียวที่เรียนจบแล้วแ
ละรับราชการเป็นครูภาษาไทยที่ ‘โรงเรียนสราญไทยวิทยาคม’ ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากบ้านมากนัก

ในบรรดาหลานๆ ของปู่โจกับย่าสายใจ
ทิพเกสรกับเกษราเป็นพี่น้องร่วมสายโลหิตเดียวกัน
เอกทัศน์พ่อของทั้งสองเป็นทหาร และต้องไปประจำราชการที่จังหวัดแถบภาคอีสาน
ทำให้พิมาลาแม่ของทั้งคู่ต้องติดตามไปดูแล
ทิพเกสรที่อยู่กับปู่โจและย่าใจมาตั้งแต่เด็กๆ
ก็เลยขอเลือกที่จะสอบบรรจุใกล้บ้าน ซึ่งหญิงสาวก็สอบติดในลำดับต้นๆ ค่อนมาทางกลางๆ
และโชคดีอย่างมากที่สามารถได้เลือกโรงเรียนที่ไม่ไกลจากบ้านมากนัก

ขณะที่เกษราน้องสาวกำลังเรียนมหาวิทยาลัยปี ๒
โดยเรียนคณะเดียวกับพี่สาวแต่คนละวิชาเอก
เกษราเรียนวิชาเอกภาษาอังกฤษและเพราะเป็นมหาวิทยาลัยใกล้บ้าน
สามารถนั่งรถประจำทางไปกลับได้ทำให้เอกทัศน์และพิมาลาวางใจเรื่องลูกสาวทั้งสอง

ส่วนกฤษณะนั้นเป็นหลานชายคนเดียวของปู่โจกับย่าใจที่อายุน้อยกว่าแก้วผกา ๔ ปี
กำลังเรียนมหาวิทยาลัยปีสุดท้าย ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยเดียวกับเกษรา
ทวิรัตน์พ่อของกฤษณะเป็นลูกชายคนรองของปู่โจกับย่าสายใจ
ทวิรัตน์เลิกกับวรรณาแม่ของกฤษณะตั้งแต่กฤษณะยังเด็ก
วรรณานั้นไปทำงานอยู่ต่างประเทศ นานๆ จึงจะกลับมาเยี่ยมลูกชาย
ส่วนทวิรัตน์นั้นก็ไปทำงานอยู่ต่างจังหวัดแถบภาคเหนือ
จึงฝากลูกชายไว้กับปู่โจและย่าสายใจ หากมีเวลาก็จะแวะมาเยี่ยมบ้าง
ซึ่งกฤษณะก็ไม่เดือดร้อนอะไร เพราะปู่โจและย่าสายใจ
รวมถึงพี่น้องก็ทำให้เขามีความสุขจนไม่คิดถึงปมด้อยตัวเอง

ขณะที่กรรณิการ์เป็นลูกสาวคนเดียวของราตรี
ลูกสาวคนเล็กของปู่โจกับย่าสายใจ ราตรีแต่งงานกับภูมินทร์
ทั้งคู่ประกอบธุรกิจส่วนตัวคือจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้า
โดยช่วยกันก่อร่างสร้างตัว
จากร้านเล็กๆ กลายเป็นศูนย์รวมเครื่องใช้ไฟฟ้าทุกชนิดในสราญไทย
ราตรีกับภูมินทร์ขยับขยายกิจการจึงปลูกทาวเฮาส์ที่ด้านบนเป็นบ้านไว้สำหรับพักอาศัย
ส่วนด้านล่างจัดเป็นร้านจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้า
ซึ่งอยู่ห่างจากบ้านของปู่โจกับย่าสายใจไปประมาณ ๒ กิโล
แต่ก็ยังไปมาหาสู่แทบทุกวัน
ราตรีจึงเปรียบเสมือนตัวแทนพี่ๆ ที่ไปทำงานไกลบ้าน
เป็นตัวแทนที่คอยดูแลปู่โจกับย่าสายใจ
กรรณิการ์นั้นอายุห่างจากกฤษณะลงมาอีก ๑ ปี
และแก่กว่าเกษรา ๑ ปี กำลังเรียนอยู่ปี ๓ ที่มหาวิทยาลัยเอกชนในตัวจังหวัด

ด้วยความที่เติบโตมาด้วยกันสี่คน
ทำให้หลานทั้งสี่ของปู่โจและย่าสายใจนั้นรักและผูกพันกันมาก
ทุกวันหยุดสุดสัปดาห์ ทุกคนก็จะรวมตัวกันที่บ้านของปู่โจอย่างพร้อมหน้าเพื่อนอนเล่น
พูดคุย และช่วยกันทำงานบ้านหรือช่วงวันหยุดยาวๆ อย่างปิดเทอมเช่นกัน


๗.๓๐ น.
สมาชิกสภากาแฟค่อยๆ ร่อยหรอลง
เพราะแต่ละคนต้องกลับไปบ้านเพื่อทำภารกิจส่วนตัว
แม้วันนี้จะเป็นวันเสาร์ แต่ชาวบ้านในสราญไทยนั้นก็ทำงานกันทุกวัน
เพราะส่วนใหญ่อาชีพของชาวบ้านสราญไทยกว่าร้อยละแปดสิบนั้น
ทำไร่ ทำสวนและมีธุรกิจการค้าเป็นของตัวเอง ทำให้ต้องทำงานทุกวัน
อาศัยช่วงบางเวลาของแต่ละวันนั้นพักผ่อน หรือนานๆ ครั้งตามเทศกาลจึงหยุดสักทีหนึ่ง

กฤษณะกับกรรณิการ์ช่วยกันเก็บแก้วที่ลูกค้ากลับไปแล้วมาไว้ในอ่างให้ทิพเกรสรเตรียมล้าง
ส่วนบางคนยังไม่กลับทั้งสองก็เลี่ยงไปทำความสะอาดบริเวณอื่น

ทิพเกสรรับแก้วจากน้องมาแช่น้ำ และเริ่มเทน้ำยาล้างจานลงบนฟองน้ำ
ขัดๆ ถูๆ ไปตามรูปทรงภาชนะ พลางชำเลืองมองไปยังหน้าร้านว่าเหลือลูกค้าอีกแค่ไหน
ก่อนจะเห็นลูกค้าที่หล่อนคุ้นหน้าคุ้นตาดีชื่อประดิษฐ์
ซึ่งหลายๆ คนในหมู่บ้านจะเรียกว่า ‘ตาดิษฐ์’
เพราะอายุอานามของฝ่ายนั้นก็เข้าสู่เลขห้าปลายๆ เข้าไปแล้ว
แต่กำลังวังชายังแข็งแรงอยู่ ทำให้ยังดูหนุ่มและกระฉับกระเฉง
ทิพเกสรเห็นประดิษฐ์กำลังนั่งคุยกับผู้ใหญ่เรืองวัยใกล้เคียงกันด้วยสีหน้าเคร่งเครียด
เสียงแผ่วๆ ของทั้งคู่สนทนากันแว่วผ่านมาให้หญิงสาวพอได้ยิน

“ช่วงนี้ที่หุ่นขี้ผึ้งไม่ค่อยดีเลยผู้ใหญ่ คนมากันน้อย” ประดิษฐ์กล่าวเป็นเชิงบ่น

“มันไม่ใช่เทศกาลท่องเที่ยวนี่นา” ผู้ใหญ่เรืองบอกเหมือนเป็นการให้กำลังใจ
“เดี๋ยวรอช่วงเด็กๆ มันปิดเทอมกันสิ พ่อแม่เค้าก็พาลูกเค้ามาเที่ยวกันเองแหละ”

“มันไม่ใช่อย่างนั้นสิผู้ใหญ่ มันเงียบๆ มันน้อยๆ มาหลายปีแล้วนะ” ประดิษฐ์ว่า

“แล้วเจ้าของเขาว่าไงบ้างล่ะ” ผู้ใหญ่เรืองถาม ทิพเกสรรู้สึกว่าประดิษฐ์หน้าเครียดลงไปอีก
“ปัญหาแบบนี้ต้องเป็นเรื่องของเจ้าของ พวกผู้บริหารเขาแหละตาดิษฐ์
เรามันแค่ลูกน้องน่ะ ตัดสินใจแทนเขาไม่ได้หรอก”

ทิพเกสรเผลอพยักหน้าตามไปด้วย
ขณะที่มือก็ยังถูฟองน้ำกับแก้ว
หล่อนรู้ว่าตาประดิษฐ์นี้นั้นมีตำแหน่งหน้าที่เป็นผู้จัดการอุทยานหุ่นขี้ผึ้งวรรณกรรมสราญไทย
หรือ ‘อุทยาน’ หรือ ‘หุ่นขี้ผึ้ง’ ที่ชาวบ้านมักเรียกสั้นๆ แล้วเข้าใจกันนั่นแหละ
และอุทยานหุ่นขี้ผึ้งวรรณกรรมสราญไทยอยู่ห่างจากบ้านปู่ของหล่อนไปไม่ไกล
แค่เดินเท้าไปก็ยังไม่ทันเหนื่อย แต่ต้องข้ามฟากของถนนและเดินต่อไปอีกราวห้าร้อยเมตร

หญิงสาวค่อนข้างปลาบปลื้มใจมากเพ
ราะอุทยานหุ่นขี้ผึ้งวรรณกรรมสราญไทยแห่งนี้นั้น
นับว่าเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่เชิดหน้าชูตาหมู่บ้านเลยก็ว่าได้
ที่นี่เป็นอุทยานหุ่นขี้ผึ้งที่ปั้นหุ่นขี้ผึ้งเกี่ยวกับวรรณคดีและวรรณกรรมไทยให้เด็กๆ และผู้สนใจได้เข้ามาเยี่ยมชม
เมื่อผู้คนได้เยี่ยมชมหุ่นขี้ผึ้งเหล่านี้ก็จะได้รับทราบเรื่องราวของวรรณคดีและวรรณกรรมเรื่องเหล่านั้นไปด้วย

สำหรับคุณครูภาษาไทยอย่างทิพเกสรนั้น
สิ่งนี้นับเป็นสถานที่ซึ่งทรงคุณค่าและเป็นแหล่งความรู้มหาศาลที่มิอาจหาง่ายๆ จากที่ไหนอีกแล้ว
หล่อนมักทำโครงการเสนอผู้อำนวยการพานักเรียนมาทัศนศึกษาที่นี่เป็นประจำ
หนึ่ง...เพื่อต้องการให้นักเรียนได้เรียนรู้จากสถานที่จริง
เป็นการปลุกเร้าความอยากรู้อยากเห็นในตัวของนักเรียนมากขึ้น
ให้นักเรียนตระหนักและเห็นคุณค่าของวรรณคดีและวรรณกรรมไทยที่มีคุณค่า
ซึ่งปัจจุบันนั้นแทบจะสูญหายไปแล้วเพราะคนไม่ค่อยให้ความสนใจ
หล่อนไม่หวังอะไรมาก แค่มีเด็กสักคนสนใจและเห็นคุณค่าจริงๆ ก็พอแล้ว
และสอง...เพื่อเป็นการช่วยกระจายรายได้ให้กับชุมชนของหล่อนเองด้วย
แม้ทิพเกสรจะไม่ได้มีเลือดรักบ้านเกิดแรงกล้า
แต่หล่อนก็รักสราญไทยในแบบฉบับของหล่อน

อย่างไรก็ตาม ทิพเกสรก็ไม่ได้สนิทสนมกับประดิษฐ์จนรู้รายละเอียดว่า
ณ ขณะนี้ ผู้คนมาเที่ยวอุทยานฯ แห่งนี้น้อยลงถ้าหากเจ้าตัวไม่นำมาปรึกษากับคนในวงสภา

“เจ้าของเขาไม่ว่าไงหรอก...”ประดิษฐ์พูดต่อ
“เขาก็ส่งเงินมาให้พนักงานทุกเดือน แต่หลังๆ นี่พวกค่าบำรุงรักษาไม่ค่อยมี
ฉันก็ไม่รู้จะหามาจากไหน เพราะบางทีตัวหุ่นก็มีรอย
ไม่ก็ก๊อกน้ำแตก หลอดไฟขาด เล็กๆ น้อยๆ ก็จริง แต่มันหลายสิ่งหลายอย่างมันก็มากตังค์อยู่”

“แล้วแจ้งเจ้าของเขายังล่ะ” คราวนี้เป็นปู่ของทิพเกสรที่ถามขึ้นบ้าง
ปู่ของหล่อนเป็นชายชราวัยเจ็ดสิบต้น รูปร่างท้วมอ้วนแต่ยังเดินคล่องแคล่วและที่สำคัญ
เอกลักษณ์ของปู่หล่อนคือเสียง... เสียงปู่ของหล่อนดังมาก ดังแบบว่าถ้าตะโกนล่ะก็
ต่อให้อยู่ฟากตรงข้ามถนนก็ได้ยิน

“ฉันเคยโทรศัพท์ไปแจ้งเขาแล้วปู่โจ แต่ก็เงียบ” ประดิษฐ์ตอบ

“เออ งั้นข้าก็ไม่รู้แล้วว่ะ” ปู่หล่อนบอกอย่างปลงจริงๆ
เพราะไม่รู้จะช่วยออกความเห็นว่าอย่างไรดี

“แต่วันก่อน หลานชายเขามานะ” ประดิษฐ์พูดต่อ

“หลานชายเจ้าของหุ่นขี้ผึ้งน่ะเหรอ” ผู้ใหญ่เรืองถาม

“ใช่” ประดิษฐ์พยักหน้า
“หลานเขาเป็นฝรั่ง ไม่ใช่สิ เป็นลูกครึ่ง แต่หน้าฝรั้ง ฝรั่ง
แต่ก็พูดไทยชัดมาก ฟังภาษาไทยพอรู้เรื่อง
ทีแรกฉันก็กลัวเหมือนกันแหละว่าจะคุยกับเขาไม่รู้เรื่อง” ประดิษฐ์เล่า

“เขามาว่าไงบ้างล่ะ” ปู่โจถาม

“เขาก็มาบอกว่า...” ประดิษฐ์ทิ้งช่วง ถอนใจยาว
"เขามาบอกว่า รู้ว่าตอนนี้หุ่นขี้ผึ้งกำไรไม่ค่อยดี คนมาเที่ยวน้อย”

“อืม แล้วไงอีก”

“เขาว่า เขาอยากจะรื้อทิ้งแล้วทำเป็นอย่างอื่นแทน”

“เฮ้ย ขนาดนั้นเชียว” ผู้ใหญ่เรืองดูตื่นเต้น

“ฉันก็ไม่แน่ใจหรอกผู้ใหญ่ แต่ ‘คุณเอ๊ดหวืด’ เขาบอกมาอย่างนี้
ฉันก็ได้แต่ภาวนาว่าเขาจะเอาไปคิดใหม่”

“ฉันเขาใจตาดิษฐ์นะ ตาดิษฐ์ทำงานในนั้นมาหลายปี ต้องรักและผูกพันเป็นธรรมดา
แต่ของอย่างนี้ต้องเผื่อใจไว้บ้างนะ เพราะอย่างไรเขาก็เป็นเจ้าของ
สิทธิในการทำอะไรนั้นเป็นของเขาทุกอย่าง” ผู้ใหญ่เรืองบอกตามตรง

“ฉันเข้าใจ ผู้ใหญ่...ฉันเข้าใจ” ปากบอกว่าเขาใจแต่แววตาของประดิษฐ์ก็เศร้าสร้อย
“แต่ฉันก็ได้แต่หวังว่าจะมีอะไรทำให้คุณเค้าเปลี่ยนใจน่ะ”

“แกก็อย่าไปคิดมากซี่ตาดิษฐ์ เขายังไม่ได้ทุบทิ้งเลย
แกน่ะคิดไปเอง เออไปเองคนเดียว” ปู่โจสมทบอีกด้วยเสียงหน่ายๆ
“อย่าไปทำเป็นกระต่ายตื่นตูมเลย มันอาจไม่มีอะไรก็ได้” ในใจปู่โจก็หวังอย่างนั้นจริงๆ

“จ้ะปู่โจ”

ทิพเกสรสะบัดแก้วที่ล้างน้ำเปล่าเสร็จหมดแล้ว
คิดตามไปในเสียงสนทนาที่ได้ยิน...
หากอุทยานฯ ต้องปิดจริงๆ ก็น่าเสียดายเหมือนกันนะ

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++






สังขยาชาเย็น
เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อ : 23 เม.ย. 2557, 15:45:59 น.
แก้ไขครั้งล่าสุด : 23 เม.ย. 2557, 15:45:59 น.

จำนวนการเข้าชม : 1157





<< บทนำ   ตอนที่ ๒ >>
เข้าระบบ เพื่อแสดงความคิดเห็นด้วย weblove account