ทัณฑ์ทวงรัก: หอมดึก (ปลายปากกาสำนักพิมพ์)
เรื่องย่อ

'ศมา' เป็นผู้ชายธรรมดาคนหนึ่งที่ผู้หญิงทุกคนปรารถนา เขาเป็นวิศวกรหนุ่มที่ทั้งเก่ง ฉลาด จริงใจ และจริงจังไปเสียทุกเรื่อง แต่ว่าชีวิตกลับเล่นตลกกับผู้ชายสายบุญอย่างเขาที่ไม่ว่าจะรักจะชอบใคร ศมาก็เป็นได้แค่พี่ชายที่แสนดีคนหนึ่งเท่านั้น แถมสวรรค์ยังใจร้ายส่งผู้หญิงที่เป็นทุกอย่างที่เขาไม่ชอบ มาเป็นลูกหนี้เขา!        

'ตวงทอง' หล่อนสวย หรู เพียบพร้อมทั้งรูปร่างหน้าตา การศึกษา และฐานะหน้าที่การงาน หญิงสาวใช้ชีวิตแบบวัตถุนิยมสุดเหวี่ยง จนวันหนึ่งชีวิตได้ให้บทเรียนกับหล่อน จากคุณหนูไฮโซ ตวงทองกลายเป็นลูกหนี้ที่ต้องหนีหนี้ หาเงินมาใช้หนี้ไปวันๆ สุดท้ายเมื่อเริ่มจนตรอกหล่อนกัดฟันสู้ หันหน้ามาขอเกาะเจ้าหนี้กินเสียดื้อๆ

“ด้านได้ อายอด และฉันจะไม่ยอมอดตาย แค่งานกรรมกรก่อสร้างทำไมฉันจะทำไม่ได้!”

*********************

นิยายเรื่องนี้เขียนโดย "หอมดึก" (ผู้แต่ง ดุจจันทร์ดั้นเมฆ พนาพร่ำรัก และฝนเมษา ดอกไม้พฤษภา) และได้ตีพิมพ์กับ "ปลายปากกาสำนักพิมพ์ (Plaipakka Publishing)" ทีมงานปลายปากกาจึงนำมาลงให้ได้อ่านกัน ประมาณ 60-70% ของเรื่องนะคะ เป็นนิยายรักโรแมนติก ดราม่า พ่อแง่แม่งอน อบอุ่น ละมุนในหัวใจแน่นอน ใครที่เคยฟิน ตรีเมฆ และจันทน์กะพ้อ ใน "ดุจจันทร์ดั้นเมฆ" มาแล้ว ห้ามพลาดด้วยประการทั้งปวง #รับประกันความสนุกเช่นเคย!


*******************

นักอ่านท่านใดสนใจมีทั้งแบบ eBook และแบบรูปเล่มนะคะ

***สำหรับแบบรูปเล่มวางจำหน่าย 4 ช่องทาง***

1.ศูนย์หนังสือจุฬาฯ

2.ร้านออนไลน์ เช่น ร้านนิยายรัก ร้าน booksforfun ร้านบาร์บี้บิวตี้บุ๊ค(ฉัตรธิดา สำเฮี้ยง) ร้าน Banniyayindy(Budsara Thongrussamee) ร้านหนังสือต้นสน วังหลัง ศิริราช ร้านBestbookSmile และร้าน Julee July

3.สั่งซื้อโดยตรงกับสนพ.ผ่าน www.plaipakkabooks.com หรือ inbox หาแอดมินเพจปลายปากกาสำนักพิมพ์ หรือผ่าน Line: plaipakkabooks

4.ซื้อผ่าน plaipakkabooks_officialshop ใน shopee

หนังสือพร้อมส่ง

คุ้มสุดด้วยจำนวน 476 หน้า

สั่งซื้อออนไลน์ราคาเพียง 319฿ จากราคาปก 355฿
ค่าจัดส่งลงทะเบียน 45฿ (รวมเป็น 364฿)
ค่าจัดส่ง EMS 70฿ (รวมเป็น 389฿)

หรือดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ เพจ "ปลายปากกา สำนักพิมพ์"

***แบบ eBook วางจำหน่ายที่เว็บ Mebmarket และ NaiinPann**
Tags: ผู้แต่งยังไม่ได้กำหนด tags ของนิยายเรื่องนี้

ตอน: บทที่ 9 -60%

บทสนทนาในวันนั้น ทำให้อีกสองสัปดาห์ต่อมาตวงทองได้มานั่งมองร่างผอมบางของเด็กสาวตูซาตากผ้าอยู่ที่ระเบียงบ้านพักอย่างขะมักเขม้น แม้ว่าหล่อนจะห้ามแล้วห้ามอีกไม่ให้ทำงานหนักมากเกินไป เด็กสาวก็เอาแต่ส่ายหัว แถมทำท่าจะร้องไห้

“หนูจะไปทำงาน นายช่างใหญ่ก็ไม่ให้ไปทำ พอหนูบอกไม่มีเงินส่งกลับบ้านนายช่างก็จ้างให้หนูมาทำความสะอาดบ้านพักพี่ตวง แล้วให้ค่าจ้างหนูเท่าเดิม บ้านหลังเล็กแค่นี้จะมีอะไรให้หนูทำสักเท่าไรกัน ทำไมไม่ให้หนูไปทำงาน หนูทำได้นะ หนูไม่ได้เป็นอะไรแล้วจริงๆ”

“ตูซารักนายช่างใหญ่ไหม”

“รักสิจ๊ะ นายช่างเป็นคนดี ดีกับหนูทุกอย่าง เหมือนพี่ตวง”

“ถ้าอย่างนั้นอย่าดื้อนะ เราอายุยังน้อย ยังทำงานอันตรายไม่ได้ แล้วก็เพิ่ง...หายป่วยด้วย”

“หนูไม่เป็นไร”

การปฏิเสธสิ่งที่เกิดขึ้นและพยายามใช้ชีวิตให้ปกติ เป็นอาการอย่างหนึ่งของคนที่มีภาวะซึมเศร้าหลังถูกทารุณทางกายใจอย่างรุนแรง ตวงทองจำคำพูดของคุณหมอได้เป็นอย่างดี

“ตูซา ค่อยๆ ทำก็ได้ พักก่อนมา” ตวงทองมองผ้ากองใหญ่ ในนั้นมีทั้งของช่างเอกและช่างชัยที่ใช้บริการซักรีดของเด็กสาวเพื่อให้หล่อนได้หาเงินเพิ่มอีกเล็กๆ น้อยๆ จะได้หายฟุ้งซ่าน

“หนูทำได้ พี่ตวงหิวหรือยัง เดี๋ยวตูซาตากผ้าเสร็จจะทำกับข้าวให้นะ”

“ไม่ต้อง พี่พอทำเองได้”

“พี่ตวง” ดวงตาคู่นั้นรื้นด้วยหยาดน้ำตา ตวงทองโบกไม้โบกมือ “โอเคๆ บริการมาเลยจ้ะ พี่จะนอนกลางวันพักให้ฉ่ำใจ ดีไหม”

“ดี ดีจ้ะ พี่ตวงพักผ่อนเลยนะ ตูซาทำเอง”

เด็กสาวปาดน้ำตาทิ้ง ตวงทองทอดกายลงบนเสื่อผืนใหญ่ วางศีรษะลงบนหมอนขยับหันหลังให้น้อยๆ เหมือนว่ากำลังจะงีบหลับ แต่แล้วก็แอบใช้ปลายนิ้วเรียวกรีดหยาดน้ำตาออกจากหางตาครั้งแล้วครั้งเล่า



***************



บ่ายของวันรุ่งขึ้น ช่างเอกก็เดินมาบอกตวงทองที่โต๊ะทำงานว่าให้เก็บของใช้จำเป็นเพื่อไปค้างแรมกรุงเทพฯ สักสองสามคืน

“ไปทำไมคะ แล้วตูซาล่ะ”

“นายช่างศมาสั่งมาน่ะคุณตวง นายต้องการคนช่วยเตรียมเอกสารยื่นประมูลโครงการใหม่แถวเมืองนนท์”

“โครงการใหม่? อะไรกันคะ โครงการนี้ยังทำไปได้ไม่ถึงครึ่งด้วยซ้ำไป”

“เรื่องปกติครับ ช่วงเศรษฐกิจดีๆ นายรับงานครั้งละสี่ห้าที่ยังมีครับ”

“งกชะมัด”

“อะไรนะครับ”

“ฉันว่าคุณได้ยินที่ฉันพูดชัดดีนะคะ”

“ครับ แหะๆ ไปเถอะครับ ผมเองก็ไม่กล้าซักนายช่างใหญ่มาก”

“แหม...ใช้งานกันขนาดนี้ เห็นทีตวงต้องขอขึ้นเงินเดือนแล้วนะคะ”

“คร้าบผม คุยกับนายช่างได้เลยครับ อ้อ นายบอกว่าให้พาตูซาไปด้วยนะครับ คงจะให้พวกคุณค้างกันที่บ้านนายที่กรุงเทพฯ”

“แหม...ดีนะคะ ประหยัดจริงจริ๊ง”

“อะ...เอ่อ ครับ” ช่างเอกอึกอัก ไม่คิดว่านั่นเป็นคำชมจริงๆ แต่เขาก็พูดอะไรไม่ได้

อีกชั่วโมงต่อมา นายช่างเอกก็ขับรถพาเลขาจำเป็นและแม่บ้านสาวน้อยสารพัดนึกมุ่งหน้าสู่กรุงเทพฯ ด้วยรถของบริษัท เมื่อเข้าเขตชานเมืองกรุงเทพฯ ตูซาก็ร้องออกมาด้วยความตื่นเต้น

“นี่กรุงเทพฯ เหรอพี่ตวง โอ้โห ทำไมตึกสูงมากมายขนาดนี้ ถนน รถรา หนูเวียนหัวไปหมดแล้ว”

“จะเวียนหัวทำไมล่ะเรา พี่คนขับสิต้องเวียนหัว นั่งสบายๆ ไม่ต้องเกร็ง” ช่างเอกมองสบตาใสบริสุทธิ์ผ่านกระจกมองหลัง ตวงทองอมยิ้ม

“นี่ละตูซา กรุงเทพมหานคร เมืองศิวิไลซ์ละ”

“โอ้โห พี่ตวงเคยอยู่ที่นี่จริงๆ เหรอจ๊ะ”

“ใช่ พี่เกิดและโตที่นี่” ตวงทองตอบ ช่างเอกลอบสังเกตกระแสในน้ำเสียงนั้น หากตวงทองซ่อนมันไว้อย่างแนบเนียน “ชอบไหมล่ะตูซา”

“กลัวมากกว่า ทุกอย่างใหญ่โตไปหมดเลย กลัวหลง กลัวเขาเอาไปขาย”

“อืม กลัวก็ดีแล้ว เพราะเมืองนี้น่ากลัวจริงๆ ไปไหนมาไหนต้องระวัง ความจริงเมืองใหญ่ที่ไหนในโลกก็เป็นเหมือนกันนั่นแหละนะ” ตวงทองค่อยๆ สอน หล่อนมองออกไปนอกรถที่กำลังแล่นเอื่อยตามหลังรถคันอื่นบนทางด่วนที่ห่างไกลคำว่า ‘ด่วน’ มากมายนัก หลังคาบ้านเรือนดั้งเดิมที่ยังไม่ถูกรื้อถอนอาบไปด้วยแสงสุดท้ายของวัน ป้ายโฆษณาสูงเท่าตึกสิบชั้นแสดงสินค้าราคาสูงลิ่วที่หล่อนเคยหมายปอง ภาพพรีเซ็นเตอร์หน้าตาคุ้นเคยที่เคยออกงานสังคมเดียวกันผ่านสายตาหล่อนไปอย่างเชื่องช้า...ไม่นานก็ลับหายไปเหมือนอดีตของหล่อน

ตวงทองปิดเปลือกตาลงและลืมตาขึ้นมาอีกครั้งเมื่อช่างเอกเลี้ยวรถเข้ามาในหมู่บ้านจัดสรรแห่งหนึ่ง

“บ้านนายช่างใหญ่อยู่ที่นี่เหรอจ๊ะนายช่าง”

“ใช่จ้ะ” เอกขันดวงตาเบิกกว้างด้วยความตื่นเต้นของเด็กสาว

“โอ้โห หลังใหญ่ๆ ทั้งนั้นเลย สวยมาก ถ้าเป็นตูซาคงไม่อยากไปไหนเลย คงอยู่บ้านทั้งวันแน่ๆ บ้านพี่ตวงใหญ่อย่างนี้ไหมจ๊ะ” เด็กสาวซักอย่างไร้เดียงสา

ช่างเอกถึงกับกลั้นใจรอคำตอบของคนที่นั่งข้างๆ ใจฝ่อสงสารและหวาดหวั่น หากได้ยินเพียงเสียงระบายลมหายใจยาวๆ

“พื้นที่คงกว้างกว่า แต่ก็เก่ากว่านี้นะ เพราะเป็นหมู่บ้านเก่าแก่ แต่ตอนนี้มันไม่ใช่บ้านของพี่อีกต่อไปแล้วละ”

“พี่ตวง หนูขอโทษ”

“ขอโทษทำไม พี่ไม่ยึดติดอะไรแล้ว มีได้ก็เสียได้ ไม่มีก็มีขึ้นมาได้ ตูซาอยากได้บ้านใช่ไหม วันนี้ยังไม่มี แต่ต่อไปก็อาจจะมีหลังใหญ่เสียยิ่งกว่าบ้านเก่าของพี่ หรือบ้านของนายช่างใหญ่ก็ได้” น้ำเสียงเย็นๆ นั้นทำให้ช่างเอกหันมามอง

มิเสียแรงที่เคยเป็นถึงครูบาอาจารย์มาก่อน เขานึก



ปลายปากกาสำนักพิมพ์
เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อ : 3 ก.ค. 2564, 16:13:16 น.
แก้ไขครั้งล่าสุด : 3 ก.ค. 2564, 16:13:16 น.

จำนวนการเข้าชม : 393





<< บทที่ 9 -40%   บทที่ 9 -80% >>
เข้าระบบ เพื่อแสดงความคิดเห็นด้วย weblove account